จิตแพทย์หวั่น “Facebook Live” ถ่ายทอดสดไม่มีเซนเซอร์ กระทบสังคม | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

จิตแพทย์หวั่น “Facebook Live” ถ่ายทอดสดไม่มีเซนเซอร์ กระทบสังคม

Date : 11 July 2016

จิตแพทย์เผยคนนิยมใช้ “เฟซบุ๊ก ไลฟ์” ช่วยเข้าถึงมวลชนได้มาก ตอบโต้กันได้ ต่างจากทีวี หวั่นพลังถ่ายทอดสดส่งผลกระทบวงกว้าง เหตุตัดต่อ เซนเซอร์ไม่ได้ ยิ่งสมจริง ยิ่งกระทบมาก ห่วงใช้ผิดวัตถุประสงค์ “โชว์หวิว - ทำร้ายตัวเอง”  

       นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็ก กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ (Facebook Live) ที่สามารถทำการถ่ายทอดชีวิตประจำวันของแต่ละคนผ่านโซเชียลมีเดียได้ ซึ่งบางส่วนนำมาใช้ผิดวิธี ทั้งการโชว์หวิว การถ่ายทอดสดทำร้ายตัวเอง ว่า ฟีเจอร์ Live ของเฟซบุ๊กที่ใช้ในการถ่ายทอดสด ไม่ถือว่าที่แรก เพราะก่อนหน้านี้ ก็มีแอปพลิเคชันที่ชื่อ “เพอริสโคป (Periscope)” และ “เมียร์แคท (Meerkat)” ซึ่งเป็นการถ่ายทอดสดเช่นเดียวกัน แต่เฟซบุ๊กไลฟ์มีข้อได้เปรียบกว่าตรงที่วิดีโอที่ถ่ายไว้จะไม่ลบตัวเองอัตโนมัติ และผู้ชมสามารถพิมพ์ข้อความตอบโต้กับเจ้าของวิดีโอนั้นได้ทันที ซึ่งทำให้การถ่ายทอดสดนั้นสมจริงมากยิ่งขึ้นไปอีก จึงจะเห็นได้ว่าทั้งเซเลปและนักข่าวทั่วโลกหันมาใช้ระบบ Live มากขึ้น เนื่องจากสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่มีจำนวนมหาศาล สะดวกสบาย สามารถรับชมผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ แถมยังโต้ตอบได้อีก แตกต่างจากการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เมื่อก่อนอย่างชัดเจน

       นพ.วรตม์ กล่าวว่า การถ่ายทอดสดในเชิงการสื่อสารสาธารณะถือว่ามีพลังอย่างมาก สมัยก่อนจึงต้องมีการเตรียมอย่างดีก่อนจะมีการถ่ายทอดสด เพราะไม่สามารถตัดต่อ หรือเซนเซอร์ได้ในขณะออกอากาศอยู่ ที่น่ากังวลอย่างมาก คือ ปัจจุบันมือสมัครเล่นก็สามารถถ่ายทอดสดได้เองผ่านเฟซบุ๊ก ถ้ามีผู้ติดตามน้อยอาจไม่น่ากังวลเท่าไร แต่หากมีผู้ติดตามจำนวนมากแล้ว การถ่ายทอดสดนั้นย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างทุกครั้ง ถ้าผู้ถ่ายทอดสดใช้เผยแพร่สิ่งที่มีประโยชน์ก็จะส่งผลดีในวงกว้าง แต่อีกทางหนึ่งหากเผยแพร่โดยไม่ได้ระวังสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายนั้นย่อมกระจายตัวออกไปในสังคมทันทีเช่นกัน เท่าที่ตามสังเกตดูในคนไทย ส่วนใหญ่ใช้งานได้ตามที่เฟซบุ๊กระบุจุดประสงค์ไว้ แต่ก็ยังพบการใช้งานที่มีปัญหาอยู่สองสามอย่าง เช่น การถ่ายทอดที่มีลักษณะอนาจาร และทำร้ายตัวเอง

        “สำหรับผลกระทบจากการทำร้ายตัวเองผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาผลกระทบของฟีเจอร์นี้โดยเฉพาะ เพราะเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ๆ แต่อาจเทียบเคียงกับผลกระทบทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “เวอร์เทอร์เอฟเฟกต์ (Werther Effect)” ซึ่งหมายถึง การฆ่าตัวตายที่มากขึ้นในสังคมหลังจากมีการถ่ายทอด หรือตีพิมพ์เรื่องการฆ่าตัวตาย การศึกษาพบว่า โอกาสการทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายเลียนแบบ (Copycat suicide) จะสูงขึ้นมาก หากผู้ที่รับชมสื่อนั้นมีพื้นฐานชีวิต ลักษณะการใช้ชีวิต เชื้อชาติ อายุ ใกล้เคียงกับผู้ที่ทำร้ายตัวเองในสื่อ ที่สำคัญ การที่รับชมแบบถ่ายทอดสดจะยิ่งสมจริงมากขึ้นกว่าการรับชมจากสื่อรูปแบบอื่น ผลกระทบย่อมมากขึ้นตาม” นพ.วรตม์ กล่าว

       นพ.วรตม์ กล่าวว่า หากผู้รับชมสามารถแยกแยะได้ว่าผู้ที่ทำร้ายตัวเองผ่านสื่อนั้น อาจมีปัญหาซับซ้อนอยู่เบื้องหลังอีกมากมาย ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่เขานำเสนอผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย ก็อาจลดผลกระทบต่อตนเองได้ เพราะจริง ๆ แล้วคนที่ทำร้ายตัวเองอาจมีปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท หรือยาเสพติด ซึ่งเขาไม่ได้นำเสนอเรื่องนี้ แต่ถ้าผู้รับชมเป็นเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ และไม่ได้ระมัดระวังในการรับสื่อ อาจเข้าใจผิดได้ว่า การทำร้ายตัวเองเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องมีเหตุผลมาก แถมยังได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมจำนวนมาก ย่อมทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่าย

ที่มา : MGR Online       
ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.)