หากคุณมีกางเกงตัวหนึ่ง แต่มันเล็กไปสำหรับคุณ
คุณพยายามจะใส่มันให้ได้ จะทำอย่างไร
แน่นอนครับ…ว่าคุณจะต้องแขม่วท้อง
เมื่อคุณ…แขม่วท้อง นั่นหมายความว่าคุณได้ออกกำลังกายแล้ว
และถ้าหากคุณ…แขม่วท้อง เป็นประจำ
คุณจะรู้ว่า “แขม่วท้อง…ดีอย่างไร”
แขม่วท้องหรือการออกกำลังกาย Core stabilization exercise คืออะไร
“Core” เป็นการอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง กระดูกสันหลังระดับเอว กระดูกเชิงกราน และกระดูกสะโพก ซึ่งเป็นศูนย์รวมน้ำหนักของร่างกายหรือจุดศูนย์ถ่วงของร่างกาย และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวของร่างกายทั้งหมด ประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่เป็นแกนกลางของลำตัวทั้งหมด 29 มัด (1-3) โดยมีกล้ามเนื้อที่สำคัญที่สุด 4 มัด ที่เป็นโครงสร้างห่อหุ้มแกนกลางของร่างกาย (3) ได้แก่
“Stabilization” คือ การทำให้มีความมั่นคง โดยความมั่นคงของกระดูกสันหลังนั้น ประกอบด้วย 3 ส่วน ซึ่งต้องฝึกหรือออกกำลังกายร่วมกัน (1, 3, 4)ได้แก่
แต่สำหรับการฝึกหรือการออกกำลังกายที่สามารถทำได้ คือ Active subsystem หรือกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว ถ้ากล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวแข็งแรง ก็จะเพิ่มความมั่นคงให้กระดูกสันหลังได้
การฝึกแขม่วท้องมีผลต่อกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว หรือระบบ Active subsystem โดยตรง และการฝึกนี้ยังส่งผลถึงระบบ Control subsystem ถ้าฝึกแขม่วท้องเป็นประจำ จะทำให้ระบบประสาทสามารถสั่งการได้อย่างเป็นอัตโนมัติมากขึ้น และตอบสนองได้รวดเร็วขึ้น และส่งผลต่อระบบ Passive subsystem โดยทำให้โครงสร้างต่างๆ อยู่ในแนว (alignment) ที่ดี ซึ่งจะลดการบาดเจ็บเพิ่มเติมที่จะเกิดจากแรงกดที่เกิดจากการใช้งานหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสมได้
ดังนั้น “Core stabilization exercise” จึงเป็นการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กระดูกสันหลัง เพิ่มความสามารถในการควบคุมท่าทาง และการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยมีเป้าหมายที่กล้ามเนื้อมัดลึกที่เป็นแกนกลางของลำตัว ที่เชื่อมระหว่างกระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน และกระดูกสะโพก
ประโยชน์ของ “การแขม่วท้อง”
หลายคนให้ความสำคัญในการออกกำลังกาย แต่ส่วนมากมักจะออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรง ความทนทาน ในกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน เช่น กล้ามเนื้อแขน-ขา เพื่อให้สามารถทำกิจรรมต่างๆ ได้ แต่อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนน้อยที่ให้ความสำคัญในการออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่ให้ความมั่นคงกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหว ถ้ากล้ามเนื้อแขน-ขาแข็งแรง แต่กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวอ่อนแรง จะทำให้ไม่มีแรงเพียงพอในการสร้างประสิทธิภาพการเคลื่อนไหว และอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญในการออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลางของลำตัว ซึ่งมีประโยชน์ ดังต่อไปนี้
หลักการสำคัญของการแขม่วท้อง
ท่าออกกำลังกายแขม่วท้อง หรือ Core stabilization เบื้องต้น (1, 2, 5, 6)
ระดับที่ 1 ท่าแขม่วท้องพื้นฐาน
ท่าเริ่มต้นสำหรับการแขม่วท้องคือ นอนหงายชันเข่า โดยให้เข่างอประมาณ 90 องศา เท้าวางราบกับพื้น จากนั้นวางนิ้วบนปุ่มกระดูกทางด้านหน้าเชิงกราน เมื่อนำมือเท้าเอว จะพบปุ่มกระดูกนูนทางด้านหน้าเชิงกราน เคลื่อนนิ้วมือ ไปทางสะดือและลงไปทางเท้าเล็กน้อย ซึ่งตำแหน่งตรงนั้นจะวางมือบนกล้ามเนื้อท้องมัดลึก (Transversus abdominis) พอดี เมื่อเริ่มแขม่วท้องและทำอย่างถูกต้อง จะรู้สึกถึงการเกร็งของกล้ามเนื้อท้องมัดลึก โดยกล้ามเนื้อดังกล่าวจะดันมือขึ้นมา เกร็งกล้ามเนื้อดังกล่าวค้างไว้อย่างน้อย 3 การหายใจเข้า-ออก หรือประมาณ 6-20 วินาที หรือมากกว่านั้น
ระดับที่ 2 ท่าแขม่วท้องร่วมกับการกางขา 1 ข้าง
นอนหงายชันเข่า โดยให้ข้อเข่างอประมาณ 90 องศา เท้าวางราบกับพื้น ในขณะที่ทำการแขม่วท้อง ให้กางขาขวาออก 45 องศา ในขณะที่ขาซ้ายอยู่กับที่ จากนั้นเคลื่อนขาขวากลับสู่ท่าเริ่มต้น ขณะทำการเคลื่อนไหว เกร็งกล้ามเนื้อท้องมัดลึกค้างไว้อย่างน้อย 3 การหายใจเข้า-ออก หรือประมาณ 6-20 วินาที หรือมากกว่านั้น
ระดับที่ 3 ท่าแขม่วท้องร่วมกับการเหยียดเข่า 1 ข้าง
นอนหงายชันเข่า โดยให้ข้อเข่างอประมาณ 90 องศา เท้าวางราบกับพื้น ในขณะที่ทำการแขม่วท้อง ให้เหยียดเข่าขวาขึ้นจนกระทั่งข้อเข่าเหยียดตรง โดยพยายามให้ต้นขาขวาอยู่ระดับเดียวกับต้นขาซ้าย จากนั้นเคลื่อนขาขวากลับสู่ท่าเริ่มต้น ขณะทำการเคลื่อนไหว ให้เกร็งกล้ามเนื้อท้องมัดลึกค้างไว้อย่างน้อย 3 การหายใจเข้า-ออก หรือประมาณ 6-20 วินาที หรือมากกว่านั้น
ระดับที่ 4 ท่าแขม่วท้องร่วมกับการงอเข่าและสะโพก 1 ข้าง
นอนหงายชันเข่า โดยให้ข้อเข่างอประมาณ 90 องศา เท้าวางราบกับพื้น ในขณะที่ทำการแขม่วท้อง ให้งอสะโพกขวาขึ้นมาจนกระทั่งสะโพกขวา งอประมาณ 90 องศา ในขณะที่ปล่อยข้อเข่าให้งอตามธรรมชาติ จากนั้นให้เคลื่อนขากลับสู่ท่าเริ่มต้น ขณะทำการเคลื่อนไหว เกร็งกล้ามเนื้อท้องมัดลึกค้างไว้อย่างน้อย 3 การหายใจเข้า-ออก หรือประมาณ 6-20 วินาที หรือมากกว่านั้น
ระดับที่ 5 ท่าแขม่วท้องร่วมกับการงอเข่าและสะโพก 1 ข้าง ตามด้วยอีก 1 ข้าง
นอนหงายชันเข่า โดยให้ข้อเข่างอประมาณ 90 องศา เท้าวางราบกับพื้น ในขณะที่ทำการแขม่วท้อง ให้งอสะโพกขวาขึ้นมาจนกระทั่งสะโพกขวา งอประมาณ 90 องศา ในขณะที่ปล่อยข้อเข่าให้งอตามธรรมชาติ ยกขาขวาค้างไว้ จากนั้นงอสะโพกซ้าย ให้เท่ากับสะโพกขวา จากนั้นยกขาขวาลงมายังท่าเริ่มต้น และตามด้วยขาซ้ายกลับสู่ท่าเริ่มต้น ขณะทำการเคลื่อนไหว เกร็งกล้ามเนื้อท้องมัดลึกค้างไว้อย่างน้อย 3 การหายใจเข้า-ออก หรือประมาณ 6-20 วินาที หรือมากกว่านั้น
ระดับที่ 6 ท่าแขม่วท้องร่วมกับการงอเข่าและสะโพก 2 ข้างพร้อมกัน
นอนหงายชันเข่า โดยให้ข้อเข่างอประมาณ 90 องศา เท้าวางราบกับพื้น ในขณะที่ทำการแขม่วท้อง ให้งอข้อสะโพกทั้ง 2 ข้างขึ้นมาพร้อมกันที่ประมาณ 90 องศา โดยปล่อยให้ข้อเข่างอตามธรรมชาติ จากนั้นเคลื่อนขากลับสู่ท่าเริ่มต้นขณะทำการเคลื่อนไหว เกร็งกล้ามเนื้อท้องมัดลึกค้างไว้อย่างน้อย 3 การหายใจเข้า-ออก หรือประมาณ 6-20 วินาที หรือมากกว่านั้น
การฝึกแขม่วท้องมี 6 ระดับ เรียงตามความง่ายไปหายาก วิธีการฝึกให้เริ่มจากระดับที่ 1 ก่อน ฝึกระดับนี้ จนสามารถทำได้ง่าย และไม่มีอาการล้า จึงเพิ่มระดับที่ยากขึ้น และเพิ่มความยากขึ้นทีละระดับตามลำดับ หรือเมื่อเพิ่มระดับที่ยากขึ้นแล้ว ไม่สามารถทำได้ ให้ฝึกระดับที่ง่ายกว่าก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับระดับถัดไป
ดังนั้น เมื่อออกกำลังกายทุกครั้ง ควรให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวด้วย ซึ่ง “การแขม่วท้อง” มีประโยชน์มากมาย และยังสามารถประยุกต์และฝึกการแขม่วท้องในชีวิตประจำวันได้ ในทุกอิริยาบถ
เรียบเรียงโดย กภ.พงศธร ปาลี
เอกสารอ้างอิง
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล