ข้อมูลจาก : รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภาพจาก : pixabay.com
โรคหัวใจยังคงเป็นสาเหตุ 3 อันดับแรกของการเสียชีวิตของคนไทย ในปี 2557 มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดรวม 58,681 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน คิดเป็นอัตราตายของโรคหัวใจและหลอดเลือด เท่ากับ 90.34 ต่อแสนประชากร การรับประทานไขมันทรานซ์เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมาก
ไขมันทรานส์พบเล็กน้อยตามธรรมชาติในสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์และนม แต่ส่วนใหญ่เราจะได้รับไขมันทรานส์จากการสังเคราะห์ในกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อยืดอายุอาหาร เช่น เนยขาว (shortenings) มาการีนที่แข็งตัว คุกกี้ อาหารทอด ขนมอบกรอบน้ำมันพืช
ไขมันทรานส์จะทำให้ระดับ LDL (คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีต่อสุขภาพ) สูงขึ้นในเลือด และลดระดับ HDL (คอเลสเตอรอลชนิดดีต่อสุขภาพ)การรับประทานไขมันทรานส์จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
ความตื่นตัวในเรื่องนี้ในต่างประเทศมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในปี 2556 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้ออกประกาศเตือนประชาชนว่า น้ำมันซึ่งผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนจะกลายเป็นไขมันทรานส์สังเคราะห์ที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ต่อมาในปี 2549 กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารต้องระบุปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากผลิตภัณฑ์และล่าสุดมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมาประกาศว่า ไม่ให้ใช้ไขมันทรานส์ในการผลิตอาหารโดยเด็ดขาด โดยให้เวลาผู้ผลิตอาหาร3 ปีในการปรับกระบวนการผลิต
ส่วนประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปดำเนินการ 2 ลักษณะ คือ ออกกฎหมายจำกัดปริมาณไขมันทรานส์ในอาหารและมาตรการขอความร่วมมือผู้ผลิตอาหารให้ลด/เลิกใช้ไขมันทรานส์ตามความสมัครใจ
ประเทศที่ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด คือ เดนมาร์ค ที่ออกกฎหมายในปี 2547 บังคับผู้ผลิตอาหารไม่ให้มีไขมันทรานส์ในอาหารเกินร้อยละ 2 ใครฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำคุกและปรับเป็นเงินผลจากกฎหมายนี้ พบว่า ผู้ผลิตอาหารให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างดี และปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ยในอาหารอยู่ในระดับต่ำมาก รวมทั้งอัตราเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงอย่างเห็นได้ชัดคนเดนมาร์คป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงถึงร้อยละ 70 ทำให้อีกหลายประเภทเดินตาม เช่น ออสเตรียไอซ์แลนด์และสวิสเซอร์แลนด์ ในช่วงปี 2552-2554 มีรายงานเสนอต่อรัฐสภาสหภาพยุโรป เมื่อธันวาคม 2558 สรุปว่า การออกกฎหมายจำกัดปริมาณไขมันทรานส์ในอาหารที่ผลิตในระดับอุตสาหกรรมเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในปัจจุบัน
สำหรับคนไทย ในระหว่างที่รอกระทรวงสาธารณสุขขยับมาตรการทางกฏหมาย เราสามารถลงมือดูแลตนเองได้ทันที โดยเริ่มจากการไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการระบุว่าปริมาณไขมันทรานส์เป็นศูนย์