ข้อมูลจาก : นพ.ธรรมนิตย์ อังศุสิงห์ ศูนย์ถันยรักษ Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพจาก : โครงการประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลเมืองพัทยาและการบริการสังคม
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเผยแพร่ในสื่อ online ว่า “...การทำแมมโมแกรมเพื่อค้นหามะเร็งเต้านม ไม่มีประโยชน์ เมืองนอกเขาเลิกใช้กันแล้ว ยิ่งกว่านั้นเครื่องยังกดเต้านมและใช้รังสีทำให้เกิดเป็นมะเร็งอีกด้วย”
สำหรับการทำแมมโมแกรม มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รวมทั้งผลการวิจัยของสถาบันที่มีชื่อเสียงหลายแห่งทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปชี้ชัดว่า สามารถช่วยชีวิตผู้หญิงได้ และอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเมื่อ 50 ปี ที่ยังไม่มีการทำ จะพบว่าอัตราการเสียชีวิตสูงมาตลอด และมีแนวโน้มที่สูงขึ้น
กล่าวได้ว่าผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมได้รับการช่วยเหลือให้รอดชีวิตได้นั้น เป็นผลมาจากการทำแมมโมแกรมเป็นประจำมากกว่า 30 % หรือประมาณ 15,000 – 20,000 คนต่อปี และผู้ที่เคยเป็นมะเร็งได้รับการรักษา และใช้ชีวิตเป็นปกติดีในสหรัฐอเมริกามีกว่า 2.6 ล้านคน
สำหรับประเทศไทย อัตราการเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้นทุกปี และเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในหญิงไทย ซึ่งทางศูนย์ถันยรักษ์ได้รณรงค์เผยแพร่ความรู้แก่หญิงไทยให้รู้จักเฝ้าระวังตนเอง ด้วยแผนดูแลสุขภาพเต้านม 3 ขั้นตอน คือ
1. ตรวจเต้านมด้วยตนเองเมื่ออายุ 20 ปี ขึ้นไป และตรวจเป็นประจำทุกเดือนด้วยวิธี Triple Touch
2. ให้แพทย์ตรวจเมื่อมาตรวจร่างกายประจำปี
3. ทำแมมโมแกรม (Screening Mammogram) เป็นพื้นฐาน เมื่ออายุ 35 ปี
เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ชี้ชัดว่า อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การค้นพบให้เร็วที่สุด จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้ จริงอยู่ที่ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยหลังผ่าตัดเต้านมด้วยการใช้เคมีบำบัดหรือฉายรังสีได้พัฒนาก้าวหน้ามาก และมีประสิทธิผลสูง แต่การรักษาจะช่วยชีวิตได้ดียิ่งขึ้น ถ้าพบมะเร็งในระยะแรกและทำการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งหากไม่มีการทำแมมโมแกรมก็คงเป็นไปได้ยาก
ส่วนการกดและการใช้รังสี ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมจริงหรือ ...
การทำแมมโมแกรมนั้น จำเป็นต้องกดเต้านม เพื่อให้เนื้อเยื่อกระจายให้รังสีผ่าน จะได้เห็นสิ่งผิดปกติใน เนื้อเต้านมชัดเจน และรังสีที่ผู้มาตรวจได้รับก็น้อยมากรวมถึงการกดนั้นไม่ได้เจ็บมากเหมือนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว จากสถิติผู้มาตรวจแมมโมแกรม 60,000 ราย ที่ศูนย์ถันยรักษ์ พบว่า 98% เจ็บ แต่ทนได้ ส่วนปริมาณรังสีที่ใช้ น้อยเพียง 1.44 mSv ต่อครั้ง (ถ่ายข้างละ 2 ภาพ) เมื่อเทียบกับ International Atomic Energy Agency (IAEA) ที่กำหนดปริมาณรังสีสำหรับแพทย์ นักรังสีการแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวข้อง ต้องได้รับรังสีไม่เกินกว่า 20 mSv ต่อปี
ณ วันนี้ ในสหรัฐอเมริกาและในยุโรปยังมีการทำแมมโมแกรมแพร่หลาย และถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการค้นพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก ที่ศูนย์ถันยรักษก็เช่นกัน ให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคเต้านมครบวงจร ไม่เพียงส่งเสริมให้หญิงไทยตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ ยังทำแมมโมแกรมเป็นพื้นฐานเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไปด้วย