หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า ๕-๑๐ ขวบ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า ๕-๑๐ ขวบ

Date : 10 August 2016

ข้อมูลจาก : เว็บไซต์หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : pixabay.com

หน่วยไต (glomerulus) เป็นหน่วยเล็กๆ ที่กระจายอยู่ในเนื้อไต ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑ ล้านหน่วยในไตแต่ละข้าง ทำหน้าที่กรองน้ำและของเสียออกมาเป็นปัสสาวะ หากเกิดการอักเสบ ร่างกายก็ขับปัสสาวะออกได้น้อย มีของเสียคั่งอยู่ในเลือด รวมทั้งมีเม็ดเลือดแดงและสารไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการบวมทั้งตัว และปัสสาวะออกมาเป็นสีแดง

โรคนี้พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า ๕-๑๐ ขวบ มักพบหลังเป็นทอนซิลอักเสบ หรือแผลพุพองที่ผิวหนัง หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็มักจะหายได้เป็นส่วนใหญ่

สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดตามหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (beta-hemolytic streptococcus group A) เช่น ทอนซิลอักเสบ แผลพุพอง ผิวหนังอักเสบ เป็นต้น เมื่อเกิดการติดเชื้อชนิดนี้ (ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ย่อย) ร่างกายก็จะสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ซึ่งนอกจากทำลายเชื้อโรคชนิดนี้แล้ว ยังไปมีปฏิกิริยาต่อหน่วยไต ทำให้หน่วยไตอักเสบ จัดว่าเป็นโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune) ชนิดหนึ่ง ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า หน่วยไตอักเสบเฉียบพลันหลังติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส (poststreptococcal AGN) โรคนี้พบบ่อยในเด็กอายุ ๕-๑๐ ขวบ ซึ่งมักพบหลังติดเชื้อในคอ (ทอนซิลอักเสบ) ๑-๒ สัปดาห์ และหลังติดเชื้อที่ผิวหนัง ๓-๔ สัปดาห์ อาจพบได้ประมาณร้อยละ ๑๐-๑๕ ของเด็กที่ติดเชื้อดังกล่าวและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ หน่วยไตอักเสบเฉียบพลันยังอาจเกิดร่วมกับโรคอื่น เช่น เอสแอลอี ซิฟิลิส การแพ้สารเคมี (เช่น ตะกั่ว) เป็นต้น 

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับอาการบวมทั้งตัว (หนังตาบวม หน้าบวม ท้องบวม เท้าบวม ๒ ข้าง) และปัสสาวะออกมาเป็นสีแดงเหมือนน้ำล้างเนื้อหรือน้ำหมาก

ถ้าเป็นรุนแรง อาจมีอาการปัสสาวะออกน้อย หอบเหนื่อย หรือชัก

อาจมีประวัติว่ามีอาการเจ็บคอ (ทอนซิลอักเสบ) หรือเป็นแผลพุพอง หรือผิวหนังอักเสบมาก่อนสัก ๑-๔ สัปดาห์ 

การแยกโรค
อาการบวมทั้งตัว อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น 

โรคไตเนโฟรติก (nephritic syndrome) ซึ่งเป็นโรคไตอักเสบชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ร่างกายมีการสูญเสียโปรตีนออกมาทางปัสสาวะ เนื่องเพราะความผิดปกติของหน่วยไต ผู้ป่วยจะมีอาการบวมทั้งตัว แต่ปัสสาวะออกมากและไม่มีไข้

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure) ผู้ป่วยจะมีอาการเท้าบวม ๒ ข้าง และหายใจหอบเหนื่อย นอนราบ (หนุนหมอนใบเดียว) ไม่ได้เพราะรู้สึกแน่น อึดอัด หายใจลำบาก
  • ภาวะขาดอาหาร เด็กที่ขาดอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีน จะมีอาการบวมทั้งตัว โดยที่ถ่ายปัสสาวะเป็นปกติ

ส่วนปัสสาวะออกเป็นสีแดง อาจเกิดจากโรคนิ่วในไต หรือเนื้องอกในไต ซึ่งมักจะไม่มีอาการบวมหรือมีไข้ร่วมด้วย

การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการบวมและปัสสาวะแดง ร่วมกับมีประวัติการติดเชื้อในคอหรือผิวหนังมาก่อน การตรวจร่างกายมักพบว่ามีไข้สูง ความดันเลือดสูง

แพทย์จะยืนยันการวินิจฉัยโรคโดยการตรวจปัสสาวะ (พบเม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาวปริมาณมากกว่าปกติ และพบสารไข่ขาว) ตรวจเลือด (อาจพบสารบียูเอ็นและครีอะตินีนสูง ซึ่งบ่งบอกว่าไตขับของเสียไม่ได้เต็มที่)

บางรายอาจจำเป็นต้องถ่ายภาพไตด้วยรังสี (เอกซเรย์) หรืออัลตราซาวนด์ หรือทำการตรวจชิ้นเนื้อไต 

การดูแลตนเอง
เมื่อพบว่ามีอาการบวม หรือปัสสาวะสีแดง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
 หากพบว่าเป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน ก็ควรรับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์จนกว่าจะหายขาด

ในรายที่มีอาการบวม หรือความดันเลือดสูง ก็ควรงดอาหารเค็ม

การรักษา
แพทย์มักจะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยารักษาตามภาวะที่พบ เช่น

  • ถ้ามีประวัติการติดเชื้อในคอหรือผิวหนัง ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนิซิลลินวี หรืออีริโทรไมซิน
  • ให้ยาขับปัสสาวะ ลดบวม
  • ให้ยาลดความดัน ถ้าพบว่ามีความดันเลือดสูง
  • ให้ยาแก้ชัก ในรายที่มีอาการชัก
  • ทำการล้างไต (dialysis) ในรายที่มีภาวะไตวายรุนแรง

ภาวะแทรกซ้อน
ในรายที่มีความดันเลือดสูงรุนแรง อาจเกิดอาการทางสมอง เช่น ชัก ไม่ค่อยรู้สึกตัว

บางรายอาจพบภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ทำให้มีอาการหายใจหอบเหนื่อย

บางรายอาจมีภาวะไตวายเฉียบพลัน หรือไตวายเรื้อรังตามมาได้

การดำเนินโรค
หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ส่วนใหญ่จะหายได้ อาการทั่วไปจะดีขึ้นภายใน ๒-๓ สัปดาห์ แต่ควรตรวจปัสสาวะบ่อยๆ ต่อไปอีกหลายเดือน

ประมาณร้อยละ ๒ อาจกลายเป็นหน่วยไตอักเสบเรื้อรัง
ในรายที่เป็นรุนแรง หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ประมาณร้อยละ ๒ อาจเสียชีวิตได้

บางรายแม้ว่าอาการจะหายดีแล้ว เมื่ออายุมากขึ้น อาจกลายเป็นโรคความดันเลือดสูง หรือเกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้
 
การป้องกัน
สำหรับหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันหลังติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส สามารถป้องกันได้ โดยการรักษาโรคติดเชื้อในคอ (ทอนซิลอักเสบ) หรือผิวหนัง (แผลพุพอง ผิวหนังอักเสบ) ด้วยยาปฏิชีวนะให้ครบตามกำหนด เช่น ให้เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน นาน ๑๐ วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุ ๕-๑๐ ขวบ

ความชุก
หน่วยไตอักเสบเฉียบพลันหลังติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส พบได้บ่อยในเด็กอา
ยุ ๕-๑๐ ขวบ