ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมประชาสัมพันธ์
ภาพจาก : pixabay.com
ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ไม่กลั้นปัสสาวะนาน พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ รักษาควบคุมโรคต่างๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เลี่ยงกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งประมาณร้อยละ 75-95 เกิดจากเชื้ออีโคไล โรคนี้ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีท่อปัสสาวะสั้นกว่า ทำให้เชื้อโรคบริเวณปากท่อปัสสาวะ เข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า ส่วนอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบมีทั้งอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งสามารถรักษาหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือเป็นการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมักมีอาการอักเสบเป็นๆ หายๆ แต่อาการรุนแรงน้อยกว่าการอักเสบแบบเฉียบพลัน
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่ากลุ่มเสี่ยงหรือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ คือผู้ที่กลั้นปัสสาวะนานๆ เชื้อโรคในปัสสาวะจึงเจริญเติบโตได้ดี รวมทั้งผู้ที่ดื่มน้ำน้อยจึงไม่ค่อยได้ปัสสาวะ ปัสสาวะจึงแช่ค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจนเกิดอักเสบได้เช่นเดียวกัน
อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือปวดปัสสาวะบ่อยๆ แต่ปัสสาวะออกครั้งละน้อยๆ ปวด เบ่ง แสบ โดยเฉพาะตอนสุดปัสสาวะ หรือถึงขั้นปัสสาวะเป็นเลือด โดยมองเห็นปัสสาวะเป็นสีชมพู หรือเป็นเลือด อีกลักษณะคือปัสสาวะขุ่น หรืออาจเป็นหนองขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคทั้งยังพบอาการปวดท้องน้อย มีไข้ ร่วมด้วยในกรณีอักเสบแบบเฉียบพลัน
ที่น่าเป็นห่วงคือผลข้างเคียงจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาจมีการลุกลามเป็นการอักเสบของไต หรือเมื่อมีการอักเสบติดเชื้อรุนแรง อาจเป็นการอักเสบติดเชื้อในกระแสโลหิตได้ ดังนั้นแพทย์จะวินิจฉัยตามอาการของโรค เช่น ให้ยาแก้ปวดชนิดคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ การแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ วันละอย่างน้อย 8-10 แก้ว การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจรักษาที่สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง เช่น รักษาโรคติดเชื้อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ดี คือ การป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ด้วยการดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ไม่กลั้นปัสสาวะนาน พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ รักษาควบคุมโรคต่างๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง รักษาความสะอาดในการขับถ่าย ไม่ควรใช้สเปรย์ หรือยาดับกลิ่นตัวบริเวณอวัยวะเพศ เพราะก่อการระคายเคือง ในผู้หญิงไม่ควรใช้วิธีคุมกำเนิดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย ที่สำคัญควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐานอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ แต่หากมีอาการผิดปกติ ไม่ควรปล่อยไว้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป