สอนให้เด็กโตขึ้นเป็นคนอารมณ์ดีมีเหตุผลได้อย่างไร? | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

สอนให้เด็กโตขึ้นเป็นคนอารมณ์ดีมีเหตุผลได้อย่างไร?

Date : 29 August 2016

ข้อมูลจาก : อ.นพ. กวี สุวรรณกิจ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพจาก : pixabay.com

ปัจจุบันโลกเราเจริญก้าวหน้าไปมาก ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งที่ควรรู้และไม่ควรรู้ได้เร็วขึ้น การปล่อยให้เด็กพัฒนาตัวเองโดยขาดการดูแลอย่างใกล้ชิด อาจเป็นเหตุให้เด็กได้รับข้อมูลผิดๆ ทำให้ฝังใจ ตั้งแต่เล็ก และติดเป็นนิสัยที่ไม่ดี อารมณ์เสีย กลายเป็นคนที่ไม่มีเหตุผลไปได้

พัฒนาการของเด็กขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญคือสิ่งแวดล้อมและการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ มีเวลาพอที่จะให้กับลูก หรือไม่ ทัศนคติของพ่อแม่ที่มีต่อลูกก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งทัศนคติอันนี้จะแปรปรวนไปได้ตามสภาพอารมณ์ของพ่อแม่ การอบรมสั่งสอนเด็กเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ ต้องค่อยเป็นค่อยไปและสม่ำเสมอต่อเนื่อง เด็กจะเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ของตนเอง จากการสังเกตเลียนแบบสิ่งแวดล้อม และจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ ผู้ใหญ่จึงไม่ควรละเลยที่จะอบรมเด็ก เพราะเด็กเรียนรู้ได้ง่ายมาก ผู้ใหญ่ทุกคนมีส่วนทำให้เด็กเลียนแบบและเป็นตัวอย่างแก่เด็กทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้เด็กพูดจาเพราะ มีมารยาทดี ต้องให้เขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมเช่นนั้น คือ ผู้ใหญ่ต้องพูดเพราะ มีมารยาทดีด้วย ถ้าผู้ใหญ่เป็นคนเกรี้ยวกราด ขี้โมโห ด่าทอกัน เด็กก็จะเอาอย่าง การห้ามเด็กไม่ให้ทำจะไม่ได้ผล ถ้าเขาเห็นพฤติกรรมที่ถูกห้ามเป็นประจำ พฤติกรรมของเด็กก็เหมือนกับกระจกสะท้อนภาพของผู้ใหญ่รอบข้างเขานั่นเอง

การอบรมสั่งสอนเด็กจะมีประสิทธิภาพได้ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูจะต้องมีความรัก ให้ความอบอุ่นแก่เด็ก เด็กจึงจะเชื่อฟัง ถ้าบ้านใดครอบครัวใดพ่อแม่เป็นแบบฉบับที่ดี บ้านมีระเบียบ ผู้คนในบ้านปฏิบัติตนดีถูกต้อง การอบรมเด็กก็ไม่มีปัญหามาก การเข้มงวดกวดขันเด็กมากเกินไป การขัดใจเด็กอยู่เสมอ จะทำให้เด็กมีอารมณ์ร้าย ตึงเครียด ยั่วยุให้เด็กบางคนต่อต้านผู้ใหญ่ และทำให้เด็กบางคนมีความหวาดกลัว วิตกกังวล ขาดความมั่นใจ ไม่มีความคิดริเริ่ม แต่ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราปล่อยเด็กมากเกินไปจนไม่มีขอบเขต ไม่อบรมสั่งสอน ตามใจทุกอย่าง หรือไม่เอาใจใส่ จะเป็นอย่างไรก็ช่าง เด็กจะเติบโตขึ้นอย่างไม่มีระเบียบ ไม่มีเหตุผล กลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตนและก้าวร้าวได้

การเข้าใจความคิดจิตใจและพฤติกรรมของเด็กในวัยต่างๆ จะช่วยให้ผู้ที่เป็นพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงจะได้ระมัดระวังและปฏิบัติสอดคล้องกับธรรมชาติของเด็ก 

  • เด็กในวัยทารกเป็นวัยที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อปรับตัวเอง ความสัมพันธ์และการสัมผัสด้วยความรักจากพ่อแม่พี่เลี้ยงจะทำให้เด็กเกิดความไว้วางใจ เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่เป็นรากฐานของการพัฒนาอารมณ์และสังคมของเด็กต่อไป 
  • เด็กในวัยเริ่มเดินเตาะแตะ เด็กวัยนี้จะเริ่มทำอะไรตามความต้องการของตัวเอง เด็กจะดื้อเพื่อเป็นการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ผู้ใหญ่จึงควรจะอ่อนตาม ดูแลด้วยความเอาใจใส่ใกล้ชิด จะหัดอะไรก็ให้ค่อยเป็นค่อยไป อย่าบังคับข่มขู่ หรือไปฝืนความรู้สึกเด็กจนเกินไป และไม่ควรมีการลงโทษใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเด็กยังไม่รู้จัก การเรียนรู้ทุกอย่างเป็นไปโดยอัตโนมัติและเลียนแบบ ผู้ใหญ่ควรตามใจและผ่อนปรนบ้าง การหัดเด็กมากเกินไป เมื่อเด็กยังไม่พร้อม เช่น หัดนั่งโถและบังคับให้ถ่าย จะเป็นอันตรายต่อการพัฒนาต่อไป ควรสังเกตอาการของเด็ก เมื่อเห็นลักษณะเด็กที่ทำท่าจะถ่ายอุจจาระ จึงให้เขานั่ง ควรเลี้ยงดูเด็กให้มีความเป็นตัวของตัวเอง เด็กกำลังหัดเดินย่อมมีการหกล้ม เราก็จัดที่ให้กว้างให้เขาเดินไปมาเองได้ หลีกเลี่ยงการวางของต่างๆที่เกะกะทางเดินของเขาเท่านั้น 
  • เมื่อเด็กโตขึ้นจะสามารถสื่อภาษากับผู้อื่นได้ เด็กเริ่มสังคมนอกบ้าน นอกจากนี้ยังมีความสนใจเกี่ยวกับอวัยวะเพศของตน เริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับศีลธรรม แต่ยังไม่มีเหตุผล ชอบสร้างจินตนาการต่างๆ จึงควรสร้างให้เด็กมีความรับผิดชอบและเริ่มมีการเข้าสังคมกับผู้อื่นได้ เมื่อเด็กมีการพัฒนาการทางสติปัญญาอย่างรวดเร็ว เป็นช่วงเหมาะที่จะหัดจะเรียนทุกอย่าง ถ้าผู้ใหญ่พยายามฟังและเข้าใจก่อน อธิบายให้เขาฟังบ้าง และปฏิบัติตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีที่เขาจะเลียนแบบได้ เด็กในวัยนี้จะมีสังคมนอกบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะจะมีความสัมพันธ์กับเพื่อน พร้อมกันนั้นก็จะต้องการการยอมรับ และการมีส่วนร่วมในสังคม และต้องการประสบความสำเร็จ

ผู้ที่เป็นพ่อแม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสังเกต และระมัดระวังในการอบรมเลี้ยงดูลูกของตน ไม่ใช้ทัศนคติที่รักมาก ตามใจมาก วิตกกังวลมาก โกรธรุนแรงมาก ใช้วาจาหยาบคาย เจ้าระเบียบอย่างมากผิดปกติกับลูก พยายามสร้างบรรยากาศให้ครอบครัวมีความสุข ให้ความรักความอบอุ่นและอบรมเลี้ยงดูลูกอย่างถูกต้อง ไม่ขัดขวางการพัฒนาของเด็ก ต้องช่วยให้การพัฒนาการดำเนินไปอย่างสมบูรณ์ทั้งทางกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และ สติปัญญา เพื่อให้เด็กได้พัฒนาอย่างดีที่สุดเท่าที่เขาจะสามารถพัฒนาได้ โตขึ้นจะได้เป็นเด็กที่มีอารมณ์ดี มีเหตุผล อันเป็นยอดปรารถนาของพ่อแม่ทุกคน