“กีฬา” เป็นยาวิเศษของสตรีมีครรภ์ รึเปล่า? | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

“กีฬา” เป็นยาวิเศษของสตรีมีครรภ์ รึเปล่า?

Date : 1 September 2016

ข้อมูลจาก : พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล
ภาพจาก : pixabay.com

“กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ” ใช่ค่ะ กีฬาเป็นยาวิเศษสำหรับบุคคลทั่ว ๆ ไป แล้วใน สตรีมีครรภ์ล่ะ ออกกำลังบ้างได้ไหมคำตอบคือ ออกกำลังกายได้ค่ะ หากว่าคุณแม่มีสุขภาพที่แข็งแรง ร่วมกับการตั้งครรภ์ในครั้งนี้ เป็นการตั้งครรภ์ปกติที่ไม่ได้มีความเสี่ยงอะไร กีฬาก็ยังเป็นยาวิเศษสำหรับคุณแม่ๆ กันอยู่นะคะ

แต่คุณแม่ ๆ ทั้งหลาย ควรจะเลือกกีฬาที่ไม่อันตราย ไม่เสี่ยงต่อการแท้งบุตร หรือทำให้ลูกตัวเล็ก หรือคลอดก่อนกำหนดค่ะ และที่สำคัญ เราควรปรึกษาคุณหมอสูติที่เราฝากครรภ์ด้วย ว่ากีฬานั้น ๆ เหมาะสมกับสตรีตั้งครรภ์แบบเราหรือไม่

กีฬาเป็นยาวิเศษ สำหรับสตรีมีครรภ์ ตรงไหน ?

– ช่วยลดอาการปวดหลัง

– ช่วยเรื่องภาวะท้องผูก ที่สตรีมีครรภ์มักจะประสบ

– ลดโอกาสการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือครรภ์เป็นพิษ และการผ่าตัดคลอด

– น้ำหนักขึ้นในเกณฑ์ที่ปกติ

– เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย หัวใจ และหลอดเลือด

แล้วจะออกกำลังกายแค่ไหนดี ?

– 150 นาทีต่อสัปดาห์ ของการออกกำลังกายระดับปานกลาง

แค่ไหนคือปานกลาง ?

– ระดับปานกลางคือ การออกกำลังกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น แขนหรือขา ในระดับที่ทำให้ชีพจรเต้นเร็วขึ้น มีเหงื่อออก รู้สึกเหนื่อยระดับที่ยังสามารถพูดคุยขณะออกกำลังกายได้ แต่ไม่สามารถร้องเพลงได้ เช่น เดินเร็ว อาจจะแบ่ง 150 นาทีต่อสัปดาห์ ให้เป็น 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ก็ได้ค่ะ หรือจะซอยเป็น 10 นาที แล้วเน้นออกบ่อย ๆ ระหว่างวันก็ยังได้

ถ้าก่อนหน้านี้ไม่เคยออกกำลังมาก่อนเลย แล้วเกิดมีแรงบันดาลใจคิดจะมาออกกำลังแต่ตั้งครรภ์อยู่พอดี ก็ขอให้ค่อยเป็นค่อยไปนะคะ อาจจะเริ่มจากวันละ5นาทีแล้วค่อย ๆ เพิ่มทีละ 5 นาที จนกลายเป็น 30 นาทีต่อวันก็ได้ค่ะ

แต่ถ้าก่อนหน้านี้ เราเป็นสาวสปอร์ต สาวแอ็กทีฟ ออกกำลังเป็นประจำ เราก็สามารถออกกำลังกายต่อได้ค่ะ แต่ควรอยู่ภายใต้การแนะนำของสูติแพทย์ที่ดูแลเรานะคะว่า ในกรณีอย่างเราเนี่ย ออกกำลังกายชนิดนั้น ๆ ได้รึเปล่า

แล้วในกรณีไหนบ้างที่สตรีมีครรภ์ “ห้าม” การออกกำลังกาย ?

– โรคหัวใจ หรือโรคปอด

– ปากมดลูกไม่แข็งแรง (อาจจะสั้นหรือปากมดลูกเปิดง่าย) หรือได้รับการเย็บปากมดลูกมาก่อน

– ครรภ์แฝด ที่มีมากกว่า 1 คนขึ้นไป

– รกเกาะต่ำ

– เคยมีการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดหรือน้ำเดินก่อนกำหนดมาก่อนในครรภ์นี้

– ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ

– มีภาวะโลหิตจางรุนแรง