น้ำมะเขือเทศกล่อง “ไม่เสี่ยงไต” แต่ “เสี่ยงอ้วน” | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

น้ำมะเขือเทศกล่อง “ไม่เสี่ยงไต” แต่ “เสี่ยงอ้วน”

Date : 8 September 2016

ข้อมูลจาก : รายการพบหมอรามา ช่วง Rama Update https://youtu.be/nAuZQRaeFKg
ภาพจาก : pixabay.com

ปัจจุบันคนรักสุขภาพมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และเครื่องดื่มสุขภาพอย่างหนึ่งที่คนหันมาให้ความสนใจ คือ “น้ำมะเขือเทศบรรจุกล่อง” โดยเฉพาะสาวๆ ที่อยากมีสุขภาพผิวดีก็มักจะทานน้ำมะเขือเทศอยู่เป็นประจำ มะเขือเทศเป็นผลไม้ที่มีสารอาหารที่มีประโยชน์อยู่เป็นจำนวนมาก มะเขือเทศ 1 ถ้วยตวง มีน้ำอยู่ประมาณ 124 กรัม มีสารเบต้า-แคโรทีน ลูทีน วิตามินซี ใยอาหาร โพแทสเซียม ทองแดง ฟอสฟอรัส แคลเซียม เหล็ก สารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอลและแมกนีเซียม รวมถึงมีโซเดียมในปริมาณที่ไม่มากด้วย

มะเขือเทศมีสารโพแทสเซียมค่อนข้างสูง จึงไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคไตหรือผู้ที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง โพแทสเซียมเป็นสารที่ช่วยในเรื่องของการหดละคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ สำหรับผู้ที่เป็นโรคไต ไตจะไม่สามารถขับโพแทสเซียมออกได้อย่างที่ควรจะเป็น จะทำให้มีโพแทสเซียมคั่งในเลือดส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อล้า หัวใจเต้นผิดปกติและอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้

อ.นพ.กุลพงษ์ ชัยนาม หน่วยโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การที่ร่างกายของเราได้รับโพแทสเซียมในปริมาณที่เหมาะสม มีส่วนช่วยเรื่องของการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง หากเรามีร่างกายปกติไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการทำงานของไต ร่างกายจะขั[โพแทสเซียมออกให้เหลือในปริมาณที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ปริมาณของน้ำมะเขือเทศที่พอดีต่อร่างกาย คือประมาณ 2 แก้ว

น้ำมะเขือเทศแบบกล่อง จะมีส่วนผสมของน้ำตาลและเกลืออยู่จำนวนหนึ่ง หากเราดื่มมากกว่าวันละ 2 กล่อง จะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลเกินพอดีในแต่ละวันทำให้เกิดโรคอ้วนได้ แนะนำว่าให้เราทานผักผลไม้ที่หลากหลาย การทานผลไม้หลากสีในทุกวันจะทำให้สุขภาพผิวดีได้ถาวรกว่า

สำหรับผู้หญิงการทานมะเขือเทศแบบสดๆ จะทำให้ได้รับวิตามินซีและใยอาหารจะช่วยให้ผิวพรรณดี เต่งตึง ส่วนผู้ชายการทานมะเขือเทศแบบปรุงสุกจะช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้ อีกทั้งยังดีกว่าการทานน้ำมะเขือเทศแบบกล่องด้วย เพราะเราจะได้ทั้งใยอาหาร และสารอาหารอื่นๆ มากขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลและคำแนะนำจาก: อ.นพ.กุลพงษ์ ชัยนาม หน่วยโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล