ข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ภาพจาก : pixabay.com
ยังคงต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไปกับ “ไวรัสซิกา” (ZIKA Virus) ที่ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกรณีที่มีการเผยแพร่แผนที่โลกแสดงประเทศที่มีการระบาดของไวรัสชนิดดังกล่าว แล้วพบว่าประเทศไทยอยู่ใน “พื้นที่สีแดง” พร้อมๆ กับพบผู้ติดเชื้อในไทยแล้วหลายราย
บ่ายวันที่ 6 ก.ย. 2559 มีการจัดเสวนา “ZIKA ไวรัสร้าย ภัยเงียบต่อคุณแม่ตั้งครรภ์” ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซอยโยธี ถ.พระราม 6 กรุงเทพฯ ซึ่ง นพ.ยงเจือ เหล่าศิริถาวร ผู้แทนจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ไขข้อข้องใจกรณีดังกล่าวว่า เป็นเพราะ “หลักเกณฑ์” การจัดกลุ่มประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา ของ 2 องค์กรระดับสากล มีความแตกต่างกัน โดยหากไปดูแผนที่ของ องค์การอนามัยโลก (WHO) จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มที่มีการแพร่ระบาดตั้งแต่ต้นปี 2559 ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปอเมริกา กลุ่มนี้มีการระบาดอย่างกว้างขวางทั้งยุงสู่คนและคนสู่คน
2.กลุ่มที่มีรายงานการติดเชื้อในปี 2559 จากยุงสู่คนในประเทศ ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มนี้
3.กลุ่มที่พบผู้ติดเชื้อจากยุงสู่คนในประเทศ ในปี 2558 หรือก่อนหน้านั้น แต่ไม่พบในปี 2559 กลุ่มนี้มีประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชาอยู่ด้วย
แต่หากไปดูแผนที่ของ ศูนย์ควบคุมป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (ECDC) ซึ่งใช้หลักเกณฑ์ว่า..ประเทศใดที่มีผู้ติดเชื้อ “ตั้งแต่ 10 รายขึ้นไปในรอบ 3 เดือน” ถือว่ามีสถานการณ์ระบาดของเชื้ออย่างรุนแรงทั้งสิ้น ไม่ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศนั้นๆ จะมีจำนวนเท่าใดก็ตาม จึงไม่ต้องแปลกใจหากไทยที่มีผู้ติดเชื้อเพียงหลักสิบราย..
ประการต่อมา..การพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องในประเทศไทย นพ.ยงเจือ กล่าวว่า แท้จริงแล้วไวรัสซิกา “ไม่ใช่ของใหม่” แต่เป็นเชื้อที่มีอยู่แล้วในพื้นถิ่น เห็นได้จากมี “ยุงลาย” เป็นพาหะเช่นเดียวกับ “ไวรัสเดงกี่” (Dengue Virus) ที่ทำให้เกิด “ไข้เลือดออก” โรคที่คนไทยคุ้นเคย เพียงแต่
1.ก่อนหน้าปี 2555 ไทยไม่สามารถตรวจหาการติดเชื้อได้เอง เมื่อพบผู้ต้องสงสัยต้องเก็บตัวอย่างแล้วส่งไปตรวจที่ต่างประเทศเท่านั้น
2.ไวรัสซิกา ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ “ไม่แสดงอาการ” เมื่อไม่มีความเจ็บป่วยให้เห็น จึงไม่มีการไปพบแพทย์เพื่อรักษา ข้อมูลจึงไม่ถูกบันทึกไว้ต่างจาก “ไข้เลือดออก” ที่เป็นแล้ว “อาการชัดเจน”!!!
“ซิกาส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ หรือถึงมีก็อาการน้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เบื้องต้นก็ไปคลินิกก่อน หรือไปโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งโอกาสที่รัฐจะได้รายงานจากภาคเอกชน มันค่อนข้างน้อยกว่าจากภาครัฐ หรือไม่ก็ไม่ไปหาหมอเสียด้วยซ้ำ เพราะส่วนใหญ่หายเองได้ ดังนั้น ก็อยู่กับบ้านจนหาย เราก็อาจจะหลุดพวกนี้ไป” นพ.ยงเจือ ระบุ
แม้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการป่วย แต่สิ่งที่ไวรัสซิกาดู “น่ากลัว” จนเป็นที่ตื่นตระหนก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้ทรงคุณวุฒิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เพราะไวรัสชนิดนี้ “ชอบกินสมองเด็ก” สามารถทำอันตรายกับทารกได้ “ทุกช่วงอายุครรภ์” หากมารดาได้รับเชื้อ ทำให้เกิดภาวะ “สมองลีบ” กับทารกดังกล่าว แน่นอนว่า..ย่อมส่งผลต่อ “พัฒนาการสติปัญญา” เมื่อคลอดออกมา
“ในรกของหญิงตั้งท้องจะคอยป้องกันเชื้อโรค แต่ซิกามันสามารถผ่านเข้าไปยังตัวเด็กได้ แล้วมันฉลาดมากเพราะมันใช้รกเป็นบ้านของมัน ปล่อยไวรัสออกไปเรื่อยๆ ให้เด็กและแม่ ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้ฆ่าเด็ก แต่มันเอาหัวเด็กเป็นบ้านมัน แล้วถึงติดเชื้ออาทิตย์ที่ 35 สัปดาห์ เด็กก็มีความผิดปกติได้ ไม่ใช่แค่ช่วง 3 เดือนแรก ไม่ว่าจะเดือนต้น เดือนกลาง เดือนท้าย ก็มีความผิดปกติทั้งสิ้น”
นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ทั้งนี้มีรายงานในต่างประเทศ เมื่อพบว่าแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกาในช่วงอายุครรภ์ได้ 20 สัปดาห์แล้วตัดสินใจทำแท้ง เมื่อนำศพทารกออกมาผ่าพิสูจน์ พบว่า “ศีรษะลีบ-กะโหลกมีช่องโพรงมาก” นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า “ไวรัสยังไม่ตาย” และยังมีศักยภาพในการแพร่เชื้อต่อไปได้
“คนไข้รายหนึ่งติดเชื้อ แต่ลูกที่ออกมาดูเหมือนปกติ แต่ขณะนี้เราไม่ทราบว่าคำว่าปกติคือถึง 5 ขวบ 7 ขวบ หรือเปล่า?” ผู้ทรงคุณวุฒิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แสดงความเป็นห่วง
ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค ระบุว่า ไวรัสซิกาติดต่อทางหลักโดยมียุงลายเป็นพาหะ นอกจากนี้ยังติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์และการรับเลือด ขณะที่บทความ “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคไข้ซิกา” โดย นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า อาการของไข้จากไวรัสซิกานั้น ที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ข้อบวม ปวดหลัง อาจมีอาการอื่นๆ ได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เว้นแต่กับหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น เพราะทำให้ทารกในครรภ์สมองลีบได้
แม้ไวรัสซิกาจะดูร้ายแรง แต่ยังสามารถป้องกันได้ นพ.ยงเจือ ฝากไว้ว่า ไวรัสซิกามีพาหะเดียวกันกับไวรัสเดงกี่
สาเหตุของโรคไข้เลือดออก ข้อสำคัญอยู่ที่ความเอาใจใส่ “กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย” ซึ่งต้องทำอย่าง “จริงจัง” มากกว่าเดิม “อย่าชะล่าใจ” เหมือนกรณีไข้เลือดออก ที่เห็นว่าระยะหลังๆ เมื่อเป็นแล้วสามารถรักษาให้หายได้ เพราะไวรัสซิกา หากทำอันตรายกับทารกในครรภ์มารดา..ถ้า “สูญเสียสมอง” ไปแล้ว..ย่อมไม่อาจ “แก้ไข” อะไรได้อีก!!!
“บ้านทุกคนมียุง แต่บุคลากรสาธารณสุขมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทย จะให้ไปพ่นยาไปไล่ยุงบ้านทุกหลัง มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ภาครัฐนี่ทำเข้มแข็งเต็มที่แล้วแต่ไม่สามารถทำได้ทุกที่แน่ ที่มีมากกว่าคือความร่วมมือของประชาชน บ้านใครบ้านไหน ดูว่าตรงไหนมีภาชนะที่มีน้ำขัง ถ้ามีก็กำจัดทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง บ้านไหนมียุงไม่ต้องรอสาธารณสุขมาพ่นสารเคมี กระป๋องยาที่บ้านท่านมีก็ฉีดเสียเลย ถ้าทุกบ้านทำเหมือนกันหมด ยุงน้อยลง เราก็จะปลอดภัยจากทั้งไข้เลือดออกและซิกา” นพ.ยงเจือ ฝากทิ้งท้าย