ว่าด้วยเรื่อง “คัน คัน” | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

ว่าด้วยเรื่อง “คัน คัน”

Date : 15 September 2016

ข้อมูลจาก : ศ.พญ.กนกวลัย  กุลทนันทน์ ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพจาก thaihealth.or.th

อาการคัน (Pruritus) เป็นกลุ่มอาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อย และมักนำไปสู่การแกะเกา โดยผู้ป่วยที่มีอาการคันอาจมีผื่นผิวหนังร่วมด้วยหรือไม่มีก็ได้ อาการคันอาจเป็นเพียงเฉพาะที่ หรือเป็นทั่วทั้งตัว และอาจส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้เช่น ทำให้เสียสมาธิ รบกวนการทำงาน การนอน หรือส่งผลเสียทางด้านจิตใจ ในผู้ป่วยที่มีการแกะเกามาก อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบริเวณผิวหนังตามมาได้ด้วย

อาการคัน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ อาการคันเฉียบพลัน คือมีอาการคันเป็นมาไม่เกิน 1 สัปดาห์ อาการคันเรื้อรัง คือมีอาการเป็นมานานเกิน 1 สัปดาห์ถึงหลายเดือน

อาการคันนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอาการคันเรื้อรัง อาจเกิดจากภาวะผิวแห้งจากอายุที่มากขึ้น จากอากาศ หรือจากโรคผิวหนังต่างๆ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบ โรคลมพิษ โรคสะเก็ดเงิน ผื่นจากแมลงกัดต่อย ยุงกัด การติดเชื้อราที่ผิวหนัง โรคหิด บางรายอาจเกิดจากการแพ้สารที่สัมผัสผิวหนัง นอกจากนี้อาจเกิดจากโรคทางระบบอื่นๆของร่างกายเช่น ภาวะไตวายเรื้อรัง ภาวะดีซ่าน โรคตับอักเสบเรื้อรัง โรคเบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โรคมะเร็งเม็ดเลือด หรือเกิดจากยาที่รับประทาน เป็นต้น โรคทางระบบประสาทบางโรคอาจทำให้คันได้ เช่น โรคปลายประสาทอักเสบจากงูสวัด โรคเนื้องอกในสมอง เป็นต้น อย่างไรก็ตามสาเหตุนี้พบไม่มากนัก ผู้ป่วยบางรายอาการคันอาจเกิดจากสาเหตุทางจิตใจ เช่น ผู้ป่วยคิดว่ามีพยาธิไชตามผิวหนังตัวเอง ผู้ป่วยโรคย้ำคิดยำทำ หรือมีภาวะซึมเศร้า

ผู้ป่วยบางรายอาจมีสาเหตุของอาการคันหลายอย่างร่วมกันได้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีอาการคันบางราย แม้ว่าแพทย์จะได้ทำการตรวจหาสาเหตุต่างๆแล้ว ก็อาจไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีเพียงอาการคันโดยปราศจากผื่นผิวหนัง

สำหรับการรักษาอาการคัน แบ่งเป็น การรักษาแบบจำเพาะ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุของอาการคันให้พบ และหลีกเลี่ยงหรือกำจัดสาเหตุดังกล่าว โดยแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาตามความเหมาะสม เช่น การใช้ยาทาประเภทสเตียรอยด์หรือยาทาลดการอักเสบชนิดอื่นๆในผู้ป่วยที่สาเหตุของอาการคันเกิดจากผื่นผิวหนังอักเสบ การใช้ยาทากำจัดเชื้อราหรือเชื้อหิด ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อดังกล่าวที่ผิวหนัง การให้ยาที่จำเพาะต่ออาการคันจากโรคบางชนิดเช่น ภาวะดีซ่าน โรคไตวายเรื้อรัง หรือจากสาเหตุทางระบบประสาท  ในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะเครียดหรือมีอาการคันจนนอนไม่หลับ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านภาวะซึมเศร้า และการรักษาประคับประคองเพื่อระงับอาการคัน เช่น ยาต้านฮิสตามีนชนิดรับประทาน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาตามความเหมาะสม ทั้งต่อตัวโรคและต่อการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละราย การใช้ยาทาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนังในผู้ป่วยที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังและผู้ป่วยที่มีผิวแห้ง การฉายแสงอาทิตย์เทียม(phototherapy) ซึ่งใช้ในบางภาวะ เช่นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน และภาวะไตวายเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบปกติ พฤติกรรมบำบัด เพื่อลดอาการเครียด และควบคุมพฤติกรรมการเกา

ในผู้ป่วยที่มีอาการคัน การปฏิบัติตัวเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการแกะเกาบริเวณผิวหนัง เนื่องจากจะทำให้เกิดผิวหนังอักเสบหรือการติดเชื้อแบคทีเรียและโรคอาจจะเป็นมากขึ้นได้  ใช้สบู่อ่อน ๆ ใช้โลชั่นทาผิว เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ ผ้าเนื้อหยาบ ซึ่งอาจระคายเคืองและกระตุ้นให้เกิดอาการคันเพิ่มมากขึ้นได้ ควรใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ไม่รัด ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด และใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อควบคุมอาการคันและรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการคัน