ข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ภาพจาก : pixabay.com
มะเร็งปากมดลูก นับเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในหญิงไทย เป็นอีกหนึ่งโรคสตรีที่มีความอันตรายและเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของผู้หญิง
จากข้อมูลพบว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นอันดับที่ 4 รองจากโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปอด ขณะที่ข้อมูลในปี 2558 พบว่าหญิงไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกถึงวันละ 14 ราย ปีละประมาณ 5,000 รายและมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละกว่า 10,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ ทั้ง ๆ ที่มะเร็งปากมดลูกนั้นสามารถตรวจหาความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆและสามารถป้องกันได้
การป้องกันมะเร็งปากมดลูกหนทางหนึ่งก็คือ การได้รับวัคซีน และถือเป็นความโชคดีของคนไทยที่จะได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก(วัคซีน HPV)ฟรี!โดยล่าสุดคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบให้บรรจุวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก(วัคซีน HPV)ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคปี 2560 แล้ว นับเป็นผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการอำนวยประโยชน์สุขเพื่อคนไทย
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมาซึ่งได้มีการพิจารณาโครงการขยายการให้บริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก(วัคซีน HPV)ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2560 ว่าตามที่กรมควบคุมโรคได้เร่งรัดการผลักดันให้นำวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (วัคซีนHPV) บรรจุในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากหน่วยบริการจะสามารถใช้วัคซีนได้เฉพาะที่อยู่ภายใต้บัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น ล่าสุดคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติมีมติเห็นชอบและให้บรรจุวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (วัคซีน HPV)ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วัคซีน HPV จึงถือเป็นวัคซีนตัวที่ 11 ในรอบ 17 ปี และถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ร่วมกันผลักดันจนสามารถบรรจุวัคซีน HPV อยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขได้ โดยประโยชน์สูงสุดจะเกิดแก่ประชาชนในการมีวัคซีนที่ดี มีความปลอดภัยไว้ใช้ป้องกันโรคได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและสามารถให้บริการฉีดวัคซีน HPVได้ภายในปี 2560 นี้ โดยจะมีการนำร่องให้บริการวัคซีน HPVฟรี!ในกลุ่มเป้า หมายเป็นเด็กหญิงที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.5 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 400,000 คนทั่วประเทศ ถือเป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดในการได้รับวัคซีนและสอดคล้องตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก จากเดิมที่ต้องฉีดถึง 3 เข็ม แต่จะฉีดแค่ 2 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน นอกจากจะเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้แล้ว ยังนับเป็นวัคซีนที่มีความคุ้มทุนกับการนำมาใช้และช่วยให้ทุ่นค่าใช้จ่ายลงได้
นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการที่กำหนดชนิดวัคซีนและตารางการให้วัคซีนที่เหมาะสมสำหรับประชากรไทยได้มีมติเห็นชอบ แนะนำให้นำวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก(วัคซีน HPV) มาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโดยเร็ว เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง สอดคล้องกับผลการศึกษานำร่องในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 ที่พบว่าได้รับการยอมรับจากผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี มีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนของกลุ่มเป้าหมายในเกณฑ์ดี ไม่มีอาการภายหลังได้รับวัคซีนที่รุนแรง และไม่ส่งผลกระทบต่อการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในพื้นที่
"มะเร็งปากมดลูก" เป็นโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มผู้หญิงไทย โดยส่วนมากพบในผู้หญิงช่วงอายุ 35-60 ปี ซึ่งสาเหตุสำคัญ เกิดจากเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมา หรือ HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ถ้าหากมีการติดเชื้อดังกล่าวแล้ว เชื้อไวรัส HPVจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณปากมดลูก โดยอาจจะใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน หรือบางรายอาจจะใช้เวลานานถึง 15 ปีกว่าอาการจะสำแดงออกมา
นพ.อำนวย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกนั้น ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของเพศสัมพันธ์เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งสามารถเกิดได้จากการมีคู่นอนหลายคน หรือการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงอายุน้อยกว่า 17 ปี เพราะในช่วงอายุดังกล่าวเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูกมาก และมีความไวต่อสารก่อมะเร็งสูง โดยเฉพาะเชื้อไวรัส HPV และหากมีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส และหนองใน จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น รวมทั้งสตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานก็ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกเช่นกัน ถ้านานกว่า 5 ปี จะเสี่ยงสูงขึ้น 1.3 เท่าและหากนานถึง 10 ปี ก็อาจเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เท่า ส่วนผู้หญิงที่คลอดลูกมากกว่า 4 ครั้ง อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า
การให้วัคซีนป้องกัน "มะเร็งปากมดลูก" จะช่วยการเกิดโรค ลดความสูญเสียชีวิตอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มีการตรวจอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน นอกจากนี้วัคซีน HPV ยังเป็นวัคซีนที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ได้เตรียมที่จะขยายสิทธิประโยชน์ด้านวัคซีนสำหรับเด็กเพิ่มเติม โดยได้จัดทำคำของบประมาณปี 2560 เพื่อรองรับการให้บริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV ในสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพเรียบร้อยแล้ว หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร. 1422 นพ.อำนวยกล่าวในตอนท้าย.