ห่วงหน้าฝน“ไข้เลือดออก”ระบาด | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

ห่วงหน้าฝน“ไข้เลือดออก”ระบาด

Date : 20 September 2016

ข้อมูลจาก : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ภาพจาก : pixabay.com

“กรมควบคุมโรค”ห่วงหน้าฝน“ไข้เลือดออก”ระบาด สัปดาห์เดียวป่วยเกือบ 2 พันราย วอนช่วยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 12 กันยายน 2559 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ จำนวน 40,026 ราย และเสียชีวิต 31 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ 15-24 ปี รองลงมาคือ 10-14 ปี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และบึงกาฬ ในสัปดาห์นี้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1,955 ราย ซึ่งในขณะนี้สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าจะยังมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากช่วงนี้ยังเป็นฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก

“สิ่งสำคัญการป้องกันโรคไข้เลือดออก เป็นสิ่งที่ควรทำที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด เพราะฉะนั้น ทุกครัวเรือนต้องช่วยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทั้งในและนอกบริเวณที่พักอาศัยด้วยตัวท่านเอง ร่วมกันปฏิบัติตามนโยบายประชารัฐ ร่วมใจ ใช้ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่
1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายอาศัย
2.เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
3.เก็บน้ำให้มิดชิดไม่ให้ยุงลายไข่ สามารถทำให้ท่านปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และไข้ปวดข้อยุงลายได้ ส่วนอาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะเริ่มมีอาการไข้สูงลอย 2-7 วัน

บางรายมีจุดเลือดออกขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาจมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน และอาจทำให้ช็อกได้ ในรายที่ช็อกผู้ป่วยมักมีอาการหลังจากไข้ลง โดยผู้ป่วยจะเริ่มซึม ตัวเย็น ชีพจรเบาเร็ว หมดสติ หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ หากมีอาการดังกล่าวรีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นพ.อำนวย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายยุงลายก่อโรคหรือไม่ นพ.อำนวย กล่าวว่า การมีกฎหมายหลายฉบับช่วยเสริมก็เป็นเรื่องดี แต่ในส่วนของ คร. มีพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งก็มีคณะกรรมการวิชาการในการพิจารณาว่าพื้นที่ใดควรประกาศเป็นพื้นที่ระบาด ก็จะมีการประกาศในแต่ละโรค และจะมีเจ้าพนักงานควบคุมโรคลงไปสอบสวนและเฝ้าระวัง เป็นต้น