ข้อแนะนำสำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทย | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

ข้อแนะนำสำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทย

Date : 20 September 2016

ข้อมูลจาก : พญ.พูลพิศ  ธงไชย  ศูนย์ถันยรักษ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพจาก : pixabay.com

จากข้อมูลทั้งต่างประเทศ ในประเทศ รวมถึงสถิติของศูนย์ถันยรักษ์ และสถานวิทยามะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล สามารถสรุปแนวทางการตรวจคัดกรองตรวจคัดกรองสำหรับหญิงไทยโดยทั่วไปดังนี้

1. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ( breast self examination: BSE) ถือเป็นสิ่งแรกที่จะช่วยให้ผู้หญิงทุกคนป้องกันตนเองจากมะเร็งเต้านม  การตรวจนี้มีวัตถุประสงค์ให้สตรีรู้สึกถึงธรรมชาติ  เต้านมของตนเองและหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นก็จะสามารถสังเกตุเห็นได้ด้วยตนเอง  โดยควรเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไปและตรวจเป็นประจำสม่ำเสมอทุกเดือนตลอดชีวิต ซึ่งขั้นตอนการตรวจประกอบด้วยการดูด้วยตาและการคลำด้วยมือ

ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาที่ทำการศึกษาในสตรีประเทศจีนเมื่อปี คศ.2003 พบว่าการตรวจเต้านมด้วยตนเองไม่มีผลลดอัตราการเสียชีวิต ทำให้หลายประเทศไม่เห็นความสำคัญของการตรวจนี้  แต่เมื่อวันที่ 7 มีนาคม คศ.2013 ที่ผ่านมาทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาเองได้ปรับเอกสารเรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมและอธิบายถึงผลการศึกษาของตนเกี่ยวกับเรื่องการตรวจเต้านมด้วยตนเองว่ามี ” good internal validity” แต่ “ poor external validity” ซึ่งหมายความว่ามีความตรงภายในของการวิจัยดี แต่ข้อค้นพบจากการวิจัยนี้ไม่สามารถนำไปสรุปอ้างอิงใช้ได้กับมวลประชากรในสถานการณ์อื่นภายใต้เงื่อนไขเดียวกันได้นั่นเอง

ดังนั้นสำหรับประเทศไทยที่มีรังสีแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ และเครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านมอยู่อย่างจำกัด การตรวจเต้านมด้วยตนเอง(breast self examination; BSE)จึงถือเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เหมาะสมและสำคัญมากในประเทศไทย  รวมทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนัก(breast cancer awareness) ให้กับผู้หญิงไทยได้มีความสนใจในสุขภาพของตนอีกด้วย  

2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรม (clinical breast examination:CBE) ทุก 3 ปีในสตรีอายุ 20-39 ปี  และทุกปีในสตรีอายุ 40 ปีขึ้นไป

3. การตรวจด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammography)

  • แนะนำให้ทำเป็นพื้นฐานเมื่ออายุ  35ปี, หากผลตรวจปกติแนะนำตรวจอีกครั้งระหว่าง 35-40 ปี
  • อายุ  40  ปีขึ้นไปตรวจปีละ 1 ครั้งอย่างสม่ำเสอ
  • อายุ  70ปีขึ้นไป  ให้พิจารณาเป็นรายบุคคล โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของประโยชน์จากการตรวจเมื่อเทียบกับเรื่องของสภาวะสุขภาพในขณะนั้น(co-morbidity)และการมีชีวิตอยู่ต่อไป(life expectancy) หากคาดว่าจะมีอายุต่อไปไม่เกิน 5 ปีก็สามารถหยุดตรวจได้

สำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เต้านมไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใดควรรีบไปพบแพทย์ทันที