ยาพาราฯ กินให้ถูก ไม่เสี่ยงอันตราย | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

ยาพาราฯ กินให้ถูก ไม่เสี่ยงอันตราย

Date : 5 October 2016

ข้อมูลจาก : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพจาก : pixabay.com


เวลาปวดหัว หรือเป็นไข้  สิ่งแรกที่คนเรานึกถึงก็คือ “ยาพาราเซตามอล” ยาสามัญที่ต้องมีอยู่ในทุกบ้าน แต่การกินยาทุกชนิดย่อมมีข้อจำกัด หากกินมากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อร่างกายได้

ในงานแถลงข่าว “เตือนภัยยาที่มีพิษต่อตับ”ที่จัดโดย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) มีการกล่าวถึง “ยาพาราเซตามอล” ว่าเป็นหนึ่งใน “ยาที่อันตรายต่อตับ” โดย ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ให้ข้อมูลว่า “พาราเซตามอล” เป็นยาเป็นยาลดไข้ที่ดีที่สุดที่ใช้ในปัจจุบัน แต่อันตรายของการใช้พาราเซตามอล คือ การเป็นพิษต่อตับ (hepatotoxicity) ส่งผลตั้งแต่การทำงานของตับ ไปจนถึง ภาวะตับวายอย่างเฉียบพลัน (acute liver failure) และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ซึ่งการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อตับเกิดจากการรับประทานยามากกว่าขนาดยาสูงสุดที่แนะนำต่อวัน

ใช้ยาพาราเซตามอลให้ปลอดภัยต้องดูที่ขนาด
ผศ.นพ.พิสนธิ์ แนะนำว่า ควรกินตามน้ำหนักตัว คูณด้วย 10 หรือ 15 จะได้ขนาดยาเป็นมิลลิกรัมที่เหมาะกับตัวเรา (แต่ต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อครั้ง) เช่น หนัก 50 กิโลกรัม ขนาดยาที่เหมาะคือ 500 หรือ 750 มิลลิกรัม ซึ่งเท่ากับยา 1 เม็ด หรือ 1 เม็ดครึ่ง (ถ้าตัวใหญ่ คูณน้ำหนักแล้วเกิน 1,000 ก็กินได้ไม่เกิน 2 เม็ด)

ขนาดยาสูงสุดต่อวันสำหรับผู้ใหญ่
- ขนาดมาตรฐานทั่วไป ไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัม โดยรวมถึงยาที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอลอยู่ด้วยเช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาบรรเทาหวัด เป็นต้น
- สำหรับคนตัวเล็ก ควรไม่เกิน 3,000-3,250 มิลลิกรัม (เป็นค่าเพื่อความปลอดภัยที่สูงขึ้น)
- สำหรับผู้ที่ต้องกินต่อเนื่องระยะยาว ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ไม่เกิน 2,500-2,600 มิลลิกรัม
- ผู้ป่วยโรคตับ หรือดื่มสุราเป็นประจำ ต้องกินไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม
- สำหรับผู้ป่วยทีต้องรับยาวาร์ฟาริน (Warfarin) คือ ยาต้านทานการแข็งตัวของเลือด ที่ทางการแพทย์ใช้รักษาและป้องกันภาวะอุดตันของหลอดเลือด อันมีสาเหตุจากการทำงานของเกล็ดเลือดที่ผิดปกติ (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) ควรกินไม่เกินครั้งละ 1,300-1,500 มิลลิกรัม

ขนาดยาสูงสุดต่อวันสำหรับเด็กอายุ 0-12 ปี
ไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หมายถึงคูณน้ำหนักตัวเด็กด้วย 10 หรือ 15 คือมิลลิกรัมที่เหมาะต่อการป้อนยา 1 ครั้ง วันละไม่เกิน 5 ครั้ง ควรอ่านฉลากให้เข้าใจเสมอว่ายาที่กำลังจะป้อนเด็ก 1 ช้อนชาหรือ 5 ซีซี นั้น มีตัวยากี่มิลลิกรัม

การบริโภคยาพาราฯ เกินขนาดจะไม่เห็นอาการในเร็ววัน จะเห็นก็ต่อเมื่อระยะอันตราย เป็นตับอักเสบ ตับแข็ง และก่อให้เกิดมะเร็งตับแล้ว ดังนั้น ควรใช้ยาเมื่อมีความจำเป็น เพิ่มความระมัดระวังโดยการอ่านฉลากข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัดทุกครั้งที่จะมีการใช้ยานะค่ะ

ทั้งนี้ “ยา” เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ สสส.ให้ความสำคัญ จึงได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เพราะยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ และเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สำคัญต่อการบริการสุขภาพ การมีหน่วนงานที่ช่วยติดตามเฝ้าระวัง และจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบยา จะสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ เป็นประโยชน์ต่อการสร้างเสริมสุขภาพ