ข้อมูลจาก : รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพจาก : pixabay.com
อาการเวียนศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อย เป็นความรู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นจริง ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนไป รู้สึกว่าตัวผู้ป่วยเองหมุนหรือไหวไป ทั้ง ๆ ที่ตัวผู้ป่วยเองอยู่เฉย ๆ ความรู้สึกดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดในการรับข้อมูล หรือการเสียสมดุลของระบบประสาททรงตัวของร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยตา, ประสาทสัมผัสบริเวณข้อต่อ, อวัยวะควบคุมการทรงตัวในหูชั้นใน และระบบประสาทส่วนกลางที่ฐานสมอง และตัวสมองเอง ทำงานเกี่ยวเนื่องกัน ความผิดปกติดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยเข้าใจไปว่ามีการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ความจริงไม่มี เนื่องจากอวัยวะการทรงตัวและอวัยวะการได้ยิน อยู่ใกล้ชิดสัมพันธ์กันจากหูไปสู่สมอง โรคของระบบทรงตัวจึงมักสัมพันธ์กับการเสียการได้ยิน, หูอื้อ และมีเสียงดังรบกวนในหูได้ เมื่อเกิดอาการเวียนศีรษะ มักจะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของลูกตา(ตากระตุก หรือ nystagmus), การเซ, การล้ม, อาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตกร่วมด้วยได้
สาเหตุของอาการเวียนศีรษะ
1. สาเหตุทางหู
หูชั้นนอก
- อุดตัน จาก ขี้หู, เนื้องอก, หนอง หรือการอักเสบจากหูชั้นนอก หรือหูชั้นกลางอักเสบ, กระดูกช่องหูหักจากอุบัติเหตุ
หูชั้นกลาง
- เลือดคั่งในหูชั้นกลาง (hemotympanum) จากอุบัติเหตุ หรือการเปลี่ยนแปลงของความดันบรรยากาศ
- หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง (หูน้ำหนวก)
- ท่อยูสเตเชี่ยน ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างโพรงหลังจมูกและหูชั้นกลาง ทำงานผิดปกติหรือมีการอุดตันจากโรคจมูกอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง (โรคแพ้อากาศ หรือจมูกอักเสบภูมิแพ้), ไซนัสอักเสบ, การดำน้ำ, การขึ้น-ลงที่สูง, ก้อนเนื้องอกที่โพรงหลังจมูก
- การทะลุของเยื่อที่ปิดช่องทางติดต่อระหว่างหูชั้นกลาง และหูชั้นใน (perilymphatic fistula) จากการไอ, เบ่ง หรือจามแรงๆ หรือเกิดจากหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังที่มีภาวะแทรกซ้อน
หูชั้นใน
- การติดเชื้อของหูชั้นใน (labyrinthitis) โดยเชื้ออาจลุกลามมาจากหูชั้นกลางที่อักเสบเฉียบพลัน หรือเยื่อหุ้มสมองที่อักเสบ หูชั้นกลางที่อักเสบเรื้อรัง (หูน้ำหนวก) และมีภาวะแทรกซ้อน หรือเกิดจากการติดเชื้อซิฟิลิส, ไวรัส, แบคทีเรีย, ปรสิต
- การอักเสบของหูชั้นในจากสารพิษ (toxic labyrinthitis) ได้แก่ ยาที่มีพิษต่อระบบประสาททรงตัวในหูชั้นใน เช่น ยาต้านจุลชีพ กลุ่ม aminoglycoside, quinine, salicylate, sulfonamide, barbiturate
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะทรงตัวในหูชั้นใน ทำให้มีเลือดออกในหูชั้นใน, ฐานสมอง, ก้านสมอง หรือสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว
- การได้รับแรงกระแทก เกิดการบาดเจ็บจากเสียงดัง เช่นระเบิด, ประทัด, การยิงปืน หรือการผ่าตัดบริเวณหู
- โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคมีเนีย (Meniere’s disease)
- โรคก้อนหินปูนเคลื่อนที่ในหูชั้นใน (benign paroxysmal positional vertigo หรือ BPPV) อาการเวียนศีรษะจะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่ศีรษะหันไปทางใดทางหนึ่ง และมักจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ (มักเป็นวินาที มักไม่เกิน 1 นาที)
2. โรคของทางเดินประสาท และสมอง
- เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ (vestibular neuronitis)
- เนื้องอกของประสาททรงตัว (vestibular schwannoma)
- โรคของระบบประสาทกลาง
- ความผิดปกติของกระแสโลหิตที่ไปเลี้ยงระบบประสาทกลาง ทำให้เลือดไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัวไม่พอ อาจเกิดจากไขมันในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตสูง, การสูบบุหรี่ (สารนิโคติน ทำให้เส้นเลือดตีบตัว), การดื่มกาแฟ ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม (สารคาเฟอีน ทำให้เส้นเลือดตีบตัว), เบาหวาน, เลือดข้นผิดปกติ, ซีด, กระดูกคอเสื่อม หรือมีหินปูนบริเวณกระดูกคองอกไปกดหลอดเลือดขณะมีการหันศีรษะหรือแหงน, เครียด หรือวิตกกังวล (ทำให้เส้นเลือดตีบตัวชั่วคราว), โรคหัวใจ (หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจขาดเลือด)
- การเสื่อมของระบบประสาทกลางที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว
- การติดเชื้อของระบบประสาท
3. สาเหตุอื่นๆ
เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (autoimmune disease), โรคต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ (hypothyroidism), โรคเลือด [มะเร็งเม็ดเลือดขาว, เกล็ดเลือดสูงผิดปกติ, ซีด, เลือดออกง่ายผิดปกติ], โรคหลอดเลือดแข็งและตีบจากโรคไขมันในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, โรคกระดูกต้นคอเสื่อม, โรคไต, ระดับยูริกในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตต่ำ, โรคภูมิแพ้
4. ไม่ทราบสาเหตุ
การวินิจฉัยสาเหตุของอาการเวียนศีรษะ อาศัยการซักประวัติ, การตรวจร่างกายโดยเฉพาะ การตรวจทางหู คอ จมูก, การตรวจตา, การตรวจเส้นประสาทสมอง และ ระบบประสาทกลาง, การวัดความดันโลหิต ท่านอน ท่านั่ง และท่ายืน (เพื่อตรวจหาความดันเลือดต่ำขณะเปลี่ยนท่า) และการตรวจพิเศษ เช่น
- การเจาะเลือด เพื่อหาภาวะซีด, เลือดข้น, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, เกล็ดเลือดมากผิดปกติ,เบาหวาน, ระดับไขมันในเลือดที่สูง, ระดับยูริกในเลือดที่สูง, การอักเสบของร่างกาย (ESR) ซึ่งอาจบ่งถึงโรคแพ้ภูมิตัวเอง, โรคไต, การติดเชื้อซิฟิลิส หรือเอดส์, การทำงานของต่อมธัยรอยด์ที่ผิดปกติ, ระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำเกินไป
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีโรคไตหรือไม่
- การตรวจการได้ยิน
- การตรวจหาความผิดปกติของหัวใจ (EKG)
- การตรวจคลื่นสมองระดับก้านสมอง (brainstem electrical response audiometry)โดยใช้เสียงกระตุ้นทางเดินประสาทที่ผ่านหู ตั้งแต่หูชั้นใน, ประสาทสมองที่เกิ่ยวกับการได้ยิน ไปสู่ก้านสมอง และผ่านไปกลีบสมอง วิธีนี้จะตรวจความผิดปกติของโรคในสมองส่วนกลางได้รวดเร็วและแม่นยำ
- การตรวจระบบประสาททรงตัวโดยเครื่องวัดการทรงตัว เพื่อแยกความผิดปกติของภาวะข้อเสื่อมจากโรคหูชั้นในและโรคของสมอง
- การถ่ายภาพรังสีกระดูกคอ
- การถ่ายภาพรังสี เช่นเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) หรือเอ็กซเรย์สนามแม่เหล็ก (MRI)
- การตรวจการไหลเวียนของกระแสโลหิต ผ่านเส้นเลือดใหญ่ไปสู่สมอง โดยใช้อัลตราซาวน์ ซึ่งจะบอกแรงดันเลือด ความเร็วของการไหล และความไม่สมดุลของการไหลเวียนของกระแสโลหิตได้
การรักษา
1. การรักษาตามอาการ
- ให้ยาที่กดการรับรู้ของประสาททรงตัว เพื่อให้หายจากอาการเวียนศีรษะ
- ให้ยาสงบ หรือระงับประสาท
- ให้ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- ให้ยาขยายหลอดเลือด เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัว ซึ่งการให้ยาดังกล่าวนี้ เป็นการรักษาปลายเหตุ
- เมื่ออาการเวียนศีรษะน้อยลงแล้ว ควรให้เริ่มการบริหารระบบทรงตัว (head balance exercise) เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับสมดุลของระบบประสาททรงตัวได้ การบริหารดังกล่าวเป็นการฝึกฝนการปรับวิสัยการทรงตัวต่อตัวกระตุ้นสมมุติที่สร้างขึ้น จะสร้างนิสัย“เคยชิน”ต่อสภาวะนั้น ๆ ให้เกิดขึ้นในอวัยวะทรงตัว เพื่อให้สามารถใช้การทรงตัวได้อย่างดีในสภาวะต่างๆ ได้แก่ การฝึกบริหารสายตา ฝึกกล้ามเนื้อ คอ แขนขา ฝึกการเคลื่อนไหวศีรษะและคอ รวมทั้งการเดิน และยืน
ถ้าผู้ป่วยหายเวียนศีรษะแล้ว ควรป้องกันไม่ให้มีอาการเวียนศีรษะอีก โดย
• หลีกเลี่ยงเสียงดัง
• ถ้าเป็นโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง,ไขมันในเลือดสูง, ไต,โรคกรดยูริกในเลือดสูง,โรคซีด,โรคเลือด ควบคุมโรคให้ดี
• หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาททรงตัว เช่น aspirin, aminoglycoside, quinine
• หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู
• หลีกเลี่ยงการติดเชื้อของหู หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
• ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ, ชา, เครื่องดื่มน้ำอัดลม, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, งดการสูบบุหรี่
• พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัว, ลดความเครียด วิตกกังวล และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
2. การรักษาตามสาเหตุของโรค
3. การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องขณะเวียนศีรษะ
- เมื่อมีอาการเวียนศีรษะขณะเดิน ควรหยุดเดินและนั่งพัก เพราะการฝืนเดินขณะเวียนศีรษะอาจทำให้ผู้ป่วยล้ม และเกิดอุบัติเหตุได้ เช่นกัน ถ้าอาการเวียนศีรษะเกิดขณะขับรถหรือขณะทำงาน ควรหยุดรถข้างทางหรือหยุดการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าเวียนมากควรนอนบนพื้นราบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น พื้น ผู้ป่วยควรมองไปยังวัตถุที่อยู่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหว ถ้าอาการเวียนศีรษะน้อยลง ค่อย ๆ ลุกขึ้น แต่อาจรู้สึกง่วงหรือเพลียได้ ถ้าง่วงแนะนำให้นอนหลับพักผ่อน หลังตื่นนอนอาการมักจะดีขึ้น
- ไม่ควรว่ายน้ำ, ดำน้ำ, ปีนป่ายที่สูง, เดินบนสะพานไม้แผ่นเดียว หรือเชือกข้ามคูคลอง, ขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ขณะมีอาการเวียนศีรษะเพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
- หลีกเลี่ยงสารคาเฟอีน (ชา น้ำอัดลม กาแฟ) การสูบบุหรี่ ซึ่งจะลดเลือดที่ไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัว
- พยายามอย่ารับประทานอาหาร หรือดื่มมากนัก จะได้มีโอกาสอาเจียนน้อยลง
- พยายามหลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ในระหว่างเกิดอาการ ได้แก่ การหมุนหันศีรษะไว ๆ, การเปลี่ยนท่าทางอิริยาบถอย่างรวดเร็ว, การก้ม เงยคอ หรือหันอย่างเต็มที่
- พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นทำให้เกิด อาการเวียนศีรษะ เช่นความเครียด, ความวิตกกังวล, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, สารก่อภูมิแพ้ (ถ้าแพ้), การเดินทางโดยทางเรือ, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- รับประทานยาที่แพทย์ให้รับประทาน เวลาเวียนศีรษะ