ข้อมูลจาก : อาจารย์ ดร.สพ.ญ. นรรฆวี แสงกลับ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพจาก : pixabay.com
คำถาม: ยาคนกับยาสัตว์ต่างกันอย่างไร ?
คำตอบ: ยาคนกับยาสัตว์นั้นมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง รศ.สพ.ญ.ดร.วรา พานิชเกรียงไกร ได้ให้คำนิยามง่ายๆ ไว้ว่า ยาคน หมายถึง ยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในคน และ ยาสัตว์ หมายถึง ยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในสัตว์
ในแง่ของการผลิตและการขอขึ้นทะเบียนนั้นเป็นเช่นเดียวกับยาที่ใช้ในคนและมีมาตรฐานการผลิตที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
แต่ความแตกต่างที่สำคัญ คือ จำนวนตัวอย่างที่ใช้ศึกษาผลทางคลินิคนั้นมีจำนวนตัวอย่างน้อยกว่ายาที่ใช้ในคน
การศึกษาผลของยาและพิษวิทยาของยาที่ใช้ในคนนั้น แม้ว่ายาจะได้มีการทดลองในห้องทดลองโดยใช้สัตว์ทดลองมาก่อนก่อนที่จะนำมาทดลองทางคลินิกกับคนไข้เพื่อประกอบการขอขึ้นทะเบียนยา แต่บริษัทผู้ผลิตยาไม่มีสิทธิที่จะโฆษณาหรือประกาศว่า ยาชนิดนั้นใช้ในสัตว์ได้ จนกว่าจะมีการขอขึ้นทะเบียนเพื่อใช้เฉพาะในสัตว์ โดยต้องระบุชนิดของสัตว์ รวมทั้งขนาด และสรรพคุณอื่นๆ
อย่างไรก็ตามสัตวแพทย์อาจสั่งใช้ยาของคนเพื่อมารักษาสัตว์ที่ตนดูแลได้ตามความจำเป็นและเห็นสมควร โดยทั่วไปสัตวแพทย์จะเลือกใช้ยาที่ขึ้นทะเบียนยาสัตว์ก่อน หากไม่ได้ผลหรือไม่อาจหายาสัตว์รักษาได้จึงจะคิดถึงการนำยาที่ใช้ในคนมาใช้ทดแทน ขนาดของยาที่จะนำมาใช้ทดแทนนั้นต้องเป็นไปตามที่นักวิจัยทางสัตวศาสตร์ได้ทดลองและตีพิมพ์ผลการศึกษานั้นในวารสารวิชาการทางสัตวศาสตร์ที่สามารถอ้างอิงได้ โดยจะมีการรวบรวมขนาดยาและสรรพคุณของยาสัตว์และยาคนที่ใช้ในสัตว์ไว้ในหนังสือคู่มือยาสัตว์เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ใช้ในทางคลินิกต่อไป
จำนวนชนิดของยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในสัตว์นั้นมีจำนวนน้อยกว่ายาที่ใช้ในคน เนื่องจากตลาดเล็กกว่ามาก ดังนั้นจำนวนการผลิตจึงน้อยทำให้ต้นทุนมีราคาแพงกว่ายาที่ใช้ในคน การนำยาคนมาใช้ในสัตว์จึงเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้ในระดับหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถที่จะนำยาคนทุกตัวมาใช้กับสัตว์ได้ เพราะถึงแม้ว่ายาทุกตัวจะมีฤทธิ์ต่อคนและสัตว์คล้ายกัน แต่การตอบสนองของร่างกายคนและสัตว์อาจแตกต่างกัน ยาบางชนิดมีพิษต่อคนต่ำแต่มีพิษต่อสัตว์สูง เจ้าของจึงไม่ควรนำยาคนมาใช้ในสัตว์ โดยไม่ได้รับความเห็นจากสัตวแพทย์ก่อน
ถาม: เมื่อสุนัขและแมวป่วยจะให้ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้แพ้ และยาลดน้ำมูกของคนได้หรือไม่ ?
ตอบ: ยาสามัญประจำบ้านหรือยาที่ใช้กันเป็นประจำเพื่อลดไข้บรรเทาปวดในคน เช่น ยาแอสไพริน หรือยาพาราเซตามอล รวมไปถึง ยาแก้แพ้และยาแก้คัดจมูกนั้น ไม่ได้ปลอดภัยหรือมีความเป็นพิษตํ่าในสุนัขและแมวเช่นเดียวกับคน แต่อาจทำให้เกิดความเป็นพิษหรือเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นไม่ควรป้อนยาให้สุนัขและแมวของท่านเองโดยไม่ได้ปรึกษาสัตวแพทย์ก่อน
แอสไพริน
แมว จะไวต่อพิษมากกว่าสุนัข เนื่องจากร่างกายของแมวจะเปลี่ยนแปลง และขับยาแอสไพรินออกไปได้อย่างช้าๆ สำหรับขนาดที่อันตรายสำหรับแมวอยู่ที่ 26 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวแมว 1 กิโลกรัม (ยาแอสไพริน 1 เม็ด ขนาดเท่ากับ 500 มิลลิกรัม) อาการแสดงความเป็นพิษ ได้แก่ ซึม อาเจียนจนถึงอาเจียนเป็นเลือด หายใจถี่ อุณหภูมิร่างกายสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปอดบวม สมองบวม โคม่า และเสียชีวิตได้
สุนัข จะมีปัญหาเกี่ยวกับเอนไซม์ในการเปลี่ยนแปลงยาน้อยกว่าแมว แต่ปัญหาที่มักพบจากการได้รับยาแอสไพรินในสุนัข คือ การระคายเคืองทางเดินอาหาร มีเลือดออก และเกิดแผลหลุมในกระเพาะอาหาร ขนาดที่อันตรายคือ 55 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวสุนัข 1 กิโลกรัมเป็นต้นไป การดูแลขั้นต้นอาจทำให้อาเจียน ป้อนผงถ่าน (activated carbon) แล้วรีบส่งโรงพยาบาลสัตวทันที
พาราเซตามอล
แมว จะไวต่อความเป็นพิษของยาพาราเซตามอลได้มากกว่าสุนัข โดยขนาดยาเพียง 45-55 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก็สามารถทำให้เกิดความเป็นพิษได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาตัวนี้ในแมว (พาราเซตามอล 1 เม็ด ขนาดเท่ากับ 500 มิลลิกรัม) เนื่องจากในแมวนั้นขาดเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยนแปลงยาทำให้ยาเกิดความเป็นพิษขึ้น โดยจะมีความเป็นพิษร้ายแรงต่อไต ตับ ระบบทางเดินอาหาร และระบบเลือด โดยเม็ดเลือดแดงของแมวนั้นไวต่อการถูกทำลาย ทำให้ไม่สามารถขนส่งออกซิเจน ส่งผลให้แมวเสียชีวิตได้ อาการที่แสดงความเป็นพิษจะเกิดขึ้นภายใน 4-12 ชั่วโมงหลังจากได้รับยา โดยอาการที่อาจพบได้ในระยะเริ่มแรก คือ น้ำลายฟูมปาก อาเจียน ซึม หายใจลำบาก เหงือกมีสีคล้ำ อุ้งมือบวม อุ้งเท้าบวม หน้าบวม และเบื่ออาหาร อาการทั้งหลายเหล่านี้จะแสดงหลังได้รับยาเพียง 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นตับอาจเสียหาย เริ่มสังเกตเห็นอาการดีซ่าน ชัก โคม่า และเสียชีวิตได้ภายใน 18-36 ชั่วโมง
สุนัข ขนาดของยาที่ทำให้เกิดความเป็นพิษจะสูงกว่าในแมว คือ 165-250 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเป็นต้นไป ความเป็นพิษมักเกิดขึ้นกับตับ และไต ทำให้เกิดภาวะตับ และไตวายได้ อาการที่แสดงความพิษที่พบได้ คือ ซึม อาเจียน น้ำปัสสาวะสีน้ำตาลแดงคล้ำ และเสียชีวิตภายใน 2-5 วัน ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงไม่ควรให้ยาพาราเซตามอลกับสุนัขและแมวด้วยตนเอง หากจำเป็นควรอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ การรักษาแมวที่ได้รับพิษมักไม่ได้ผล สำหรับสุนัขได้ผลดีกว่า ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดยาที่ได้รับ อาจทำให้อาเจียน ป้อนผงถ่าน (activated carbon) แล้วรีบพาไปโรงพยาบาลสัตว์ทันที
ยาแก้แพ้ เช่น ตัวที่เรารู้จักกันดีที่มีชื่อว่า CPM หรือคลอเฟนิรามีน ถึงแม้ยาตัวนี้จะมีการนำมาใช้รักษาในทางสัตวแพทย์ แต่หากได้รับเข้าไปเกินขนาดก็จะทำให้เกิดความเป็นพิษร้ายแรงต่อระบบประสาทส่วนกลาง อาจพบอาการตื่นเต้นไปจนถึงมีอาการชัก หรือ ซึมไปจนถึงโคม่า กดการหายใจ หายใจลำบาก และเสียชีวิตได้ การดูแลขั้นต้นอาจทำให้อาเจียน ป้อนผงถ่าน (activated carbon) แล้วรีบพาไปโรงพยาบาลสัตว์ทันที
เอกสารอ้างอิง
Donald C. Plumb. Plumb's Veterinary Drug Handbook, 7th edition, Ames, 2011, Blackwell
รศ.สพ.ญ.ดร.วรา พานิชเกรียงไกร รศ.สพ.ญ.ดร.ศิรินทร หยิบโชคอนันต์และ รศ.สพ.ญ.ดร.ปิยะรัตน์ จันทร์ศิริพรชัย การใช้ยา A to Z สำหรับสัตวแพทย์ พิมพ์ครั้งที่ 5 2554 ทวีโชติการพิมพ์ 503 หน้า
Lenny Southam และ Kate A.W. Roby. ยาหมา ยาแมว : The Pill Book Guide to Medication for your Dog and Cat เภสัชกร พิสิฐ วงศ์วัฒนะ (แปล) 2548 สำนักพิมพ์ หมอชาวบ้าน 800 หน้า