ข้อมูลจาก : รศ.นพ.ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช
ภาพจาก : Shutterstock
อาการปวดต้นคอจากการนอนตกหมอนเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักมีอาการปวดคอหลังจากตื่นนอน และอาการปวดที่ว่านั้นมักจะเป็นข้างใดข้างหนึ่ง จนทำให้เอียงคอหรือเงยคอลำบากเพราะจะทำให้ปวดมากขึ้น บางรายมีอาการปวดร้าวไปที่บริเวณสะบัก ส่วนระดับความรุนแรงของอาการปวดนั้น มีตั้งแต่ปวดเล็กน้อยไปจนถึงปวดมากจนขยับหรือเคลื่อนไหวคอลำบอกเรียกว่า "คอแข็ง"
อาการปวดดังกล่าวมีสาเหตุมาจากท่าทางของก้านคอไม่เหมาะสมในระหว่างการนอนหลับ โดยอาจเอียงหรือพับคอไปข้างใดข้างหนึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการที่ศีรษะหล่นจากหมอนในท่านอนหงายหรือนอนตะแคง ทำให้กล้ามเนื้อด้านข้างต้นคอหดเกร็งและเคล็ดยอกหรือกระดูกก้านคอกดกันจนเกิดการอักเสบ
ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดคอ เช่น เดียวกับการนอนตกหมอน อาจเกิดจากการนั่งหลับแล้วคอพับไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือการนั่งหันหน้าไปข้างใดข้างหนึ่งเป็นเวลานานๆ
การรักษามีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการปวด ถ้าปวดไม่มาก อาการมักทุเลาและหายไปเองภายในเวลาไม่กี่วัน หากอาการปวดยังไม่ลดลงหรือปวดปานกลางจนถึงปวดมาก อาจต้องรักษาด้วยยา เริ่มจากยาแก้ปวดธรรมดา ถ้าอาการปวดยังไม่ทุเลาภายใน 1 - 2 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินและวางแผนการรักษา เช่น ทานยาลดปวดชนิดแก้อักเสบ หรือทำกายภาพบำบัด
ส่วนการรักษาโดยไม่ใช้ยา อาจทำได้โดยการนวดกล้ามเนื้อที่มีอาการหดเกร็ง การทำกายภาพบำบัดด้วยการประคบความร้อน การดึงคอร่วมกับการบริหารยืดกล้ามเนื้อรอบก้านคอ
สำหรับวิธีป้องกันการนอนตกหมอนคือ การนอนในท่านอนหงาย โดยหนุนหมอนมาจนถึงก้านคอด้านล่างบริเวณใต้หัวไหล่เล็กน้อย หรือดึงชายหมอนทั้งสองข้างมาเหนือหัวไหล่ เพื่อป้องกันการนอนพับก้านคอเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ที่สำคัญไม่ควรใช้หมอนที่นุ่มหรือแข็งมาก และความสูงของหมอนควรอยู่ในระดับพอดีที่ไม่ทำให้คออยู่ในลักษณะก้มหรือเงยมากจนเกินไป
ในกรณีที่นอนตะแคง ความสูงของหมอนต้องได้ระดับพอดีที่ทำให้ก้านคออยู่ในแนวตรงเดียวกันกับกระดูกส้นหลังและควรดึงชายหมอนมาพยุงซอกคอไว้เพื่่อป้องกันการตกหมอนที่อาจเกิดขึ้นได้