กิน“ไข่สุก”อุดมด้วยสารอาหาร | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

กิน“ไข่สุก”อุดมด้วยสารอาหาร

Date : 28 October 2016

ข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ภาพจาก : pixabay.com/

“กรมอนามัย” แนะกิน “ไข่” เพิ่มโปรตีน ย้ำกิน “ไข่สุก” ได้ประโยชน์เต็มๆ เหตุไข่ครึ่งสุกครึ่งดิบขวางการดูดซึม วิตามินบี แนะทำเมนูร่วมกับผักได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการไข่ไก่ระหว่างประเทศ (The International Egg Commission หรือ IEC) ได้กำหนดให้วันศุกร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันไข่โลก ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม เพื่อเป็นการรณรงค์และส่งเสริมการบริโภคไข่ เนื่องจากไข่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพสูง หาได้ง่าย และเหมาะสมสำหรับทุกเพศ ทุกวัย เป็นแหล่งของแร่ธาตุและวิตามินอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 บี 6 วิตามินอี โฟเลต เลซิธินลูทีน และซีแซนทีน ที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย
นพ.วชิระ กล่าวต่อไปว่า การปรุงอาหารประเภทไข่สามารถทำได้ง่ายและหลากหลายสารพัดเมนู โดยเด็กอายุตั้งแต่ 7 เดือนเต็มขึ้นไป จนถึงวัยสูงอายุ กินไข่ต้มสุกได้วันละครึ่งถึง 1 ฟอง แต่หากเป็นผู้ป่วยเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง กินไข่ได้ 3 ฟองต่อสัปดาห์ หรือตามคำแนะนำของแพทย์ ที่สำคัญต้องดูแลการบริโภคอาหารอย่างอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งผู้บริโภคควรกินไข่ควบคู่กับอาหารที่หลากหลายในแต่ละมื้อ โดยให้มีอาหารประเภทแป้ง ธัญพืช เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ครบทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม


โดยเฉพาะผักและผลไม้สดจะช่วยในการกักเก็บน้ำตาลและคอเลสเตอรอล จึงช่วยลดการดูดซึม นอกจากนี้ในกรณีที่พ่อแม่ต้องการให้เด็กได้กินผักควบคู่กับไข่นั้น ควรใช้วิธีการประกอบอาหารที่มีการใส่ผักลงไปในไข่ เพื่อเป็นการจูงใจให้เด็กกินผักได้อีกทางหนึ่งด้วย เช่น ไข่เจียว หรือ ไข่ตุ๋น ใส่ผักสับละเอียด โดยจะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายแก่เด็ก

“ทั้งนี้ ควรเลี่ยงการกินไข่ดิบ เพราะถ้าไข่ไม่สุกอาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และไข่ขาวที่ไม่สุกจะขัดขวางการดูดซึมไบโอติน ซึ่งเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งในลำไส้ ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินบีไปใช้ประโยชน์ได้ จึงได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ และควรกินในรูปแบบไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ไข่พะโล้ จะมีปริมาณไขมันน้อยกว่าไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย หรืออาจกินเป็นสลัดไข่ ยำไข่ เพราะจะทำให้ได้สารอาหารที่มีประโยชน์จากไข่ และได้ใยอาหารและวิตามินซีจากผักและผลไม้
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คือ ขนมปังไข่ดาวใส่เบคอน หรือ ไส้กรอก เพราะจะได้รับปริมาณไขมันสูงมากจากเบคอนที่ใช้น้ำมันทอด และเนยที่ทาขนมปัง สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องฟันที่ไม่สามารถทานอาหารโปรตีนอื่นได้ แนะนำให้ให้กินไข่เป็นแหล่งของโปรตีน แต่ในคนสูงอายุที่มีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูงในบางมื้ออาจหลีกเลี่ยงการกินไข่แดง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว