เลือดกำเดาไหล สัญญาณร้ายในเด็ก | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

เลือดกำเดาไหล สัญญาณร้ายในเด็ก

Date : 1 November 2016

ข้อมูลจาก : รศ.พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล ฝ่ายเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย

โดยปกติร่างกายของเราจะมีเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเลือดชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ในการป้องกันเลือดออกและช่วยในการหยุดของเลือดหากเกิดบาดแผล
อาการเลือดกำเดาไหลจึงอาจเป็นอาการแสดงของโรคเลือดที่ทำให้เกล็ดเลือดลดจำนวนลงหรือทำงานผิดปกติ จึงทำให้มีเลือดออกง่ายจากเยื่อบุต่างๆ ซึ่งมีทั้งโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือโรคที่เกิดขึ้นภายหลัง


-โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ เช่น โรควอนวิลล์แบรนด์ (von Willebrand disease - VWD) ซึ่งอาจมีประวัติเลือดออกง่ายหยุดยากในครอบครัวร่วมด้วย
-โรคที่เกิดขึ้นภายหลังซึ่งทำให้เกล็ดเลือดมีปริมาณต่ำลง เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำจาก ภูมิต้านทานตนเอง (immune thrombocytopenia - ITP) ซึ่งเป็นภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่พบบ่อยในเด็กภายหลังโรคติดเชื้อประมาณ 1-3 สัปดาห์ หรือหลังได้รับการฉีดวัคซีน โรคไขกระดูกฝ่อทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดได้อย่างพอเพียง ทำให้มีโลหิตจาง ติดเชื้อง่ายเนื่องจากมีเกล็ดเลือดขาวต่ำลง และเกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวแทรกซึมอยู่ในไขกระดูก ทำให้สร้างเม็ดเลือดที่ปกติได้ลดลง

นอกจากนี้ ในรายที่มีเลือดกำเดาไหลบ่อยๆ และเป็นเวลานาน อาจทำให้เด็กเกิดภาวะซีดจากการสูญเสียเลือดเรื้อรัง จนเกิดภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก สังเกตอาการง่ายๆ หากเด็กมีอาการเวียนศีรษะ เป็นลมง่าย หรือเหนื่อยง่าย ให้ผู้ปกครองรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือด และรับยาธาตุเหล็กไปรับประทาน


วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากลูกน้อยมีเลือดกำเดาไหล ดังนี้
1.ให้เด็กนั่งตัวเอียงไปข้างหน้า และให้ศีรษะก้มลงเล็กน้อย เพื่อให้เลือดไหลออกทางจมูกแทนที่จะไหลลงคอ ซึ่งอาจทำให้เด็กอาเจียนออกมาเป็นเลือดจากที่กลืนเข้าไป
2.ใช้มือบีบจมูกบริเวณปีกจมูกเบาๆ ในข้างที่มีเลือดกำเดาไหลอย่างน้อย 10 นาที และหากเลือดยังไม่หยุดไหลนานเกิน 30 นาที ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์


วิธีป้องกันมิให้มีเลือดกำเดาไหลทำได้ง่ายเบื้องต้น ดังนี้
1.ป้องกันมิให้บริเวณเยื่อบุจมูกแห้ง เพื่อไม่ให้คัน ลดการแคะจมูก โดยการใช้น้ำเกลือหยอดจมูก หรือทาวาสลินเคลือบในรูจมูกก่อนนอน
2.ดูแลอากาศในห้องนอนไม่ให้แห้งเกินไป 3.การรับประทานผัก ผลไม้ หรือวิตามินซี เพื่อช่วยให้หลอดเลือดฝอยในจมูกแข็งแรง เลือดกำเดาไหลออกน้อยลง