ปัญหาก้อนที่ต่อมไทรอยด์ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

ปัญหาก้อนที่ต่อมไทรอยด์

Date : 8 November 2016

ข้อมูลจาก : รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

การสังเกตเห็นหรือคลำได้ก้อนโตที่ต่อมไทรอยด์เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยพอสมควรราวร้อยละ 5 ของประชากรทั่วไป โดยมักพบในสุภาพสตรีวัยกลางคน ก้อนที่พบส่วนใหญ่มักไม่มีความร้ายแรง โดยเกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้ดังนี้
1. เกิดจากเนื้อไทรอยด์โตผิดรูปโดยไม่ทราบเหตุ (nodular goiter)
2. เกิดจากการอักเสบภายในต่อมไทรอยด์
3. เกิดจากเนื้องอกต่อมไทรอยด์ชนิดไม่ร้าย
4. มีเพียงส่วนน้อยราวร้อยละ 5 เกิดจากมะเร็งของต่อมไทรอยด์

มะเร็งของต่อมไทรอยด์ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง อาการและอาการแสดงทั่วไปไม่มีความแตกต่างกันชัดเจนในกลุ่มผู้ป่วยที่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์จากสาเหตุต่างๆ การวินิจฉัยโรคจึงมีความสำคัญที่ต้องแยกกลุ่มผู้ป่วยที่อาจเป็นมะเร็งของต่อมไทรอยด์ออกจากกลุ่มผู้ป่วยอื่นๆ ให้ได้เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง โดยอาจใช้แนวทางดังต่อไปนี้
        1. การซักประวัติและการตรวจร่างกายโดยละเอียด 
        2. การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์
        3. การสุ่มเจาะเนื้อเยื่อจากต่อมไทรอยด์ไปตรวจ
        4. การตรวจโดยใช้อัลตราซาวด์หรือเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ในบางกรณี

กลุ่มผู้ป่วยบางกลุ่มอาจมีโอกาสเป็นมะเร็งสูงจึงควรพบแพทย์โดยเร่งด่วน ได้แก่
       1. มีปัญหาเสียงแหบ หายใจได้ไม่สะดวก 
       2. มีปัญหากลืนอาหารลำบากและ/หรือกินอาหารสำลัก
       3. ก้อนโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
       4. คลำได้ก้อนอื่นโตที่ด้านข้างลำคอ
       5. มีประวัติมะเร็งในครอบครัว หรือเคยได้รับการฉายแสงมาก่อน
       6. อายุน้อยกว่า 15 ปี หรือมากกว่า 45 ปี

แนวทางการรักษา
         ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตรวจพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์โตเพียงอย่างเดียว โดยไม่พบอาการอื่น ผลการตรวจระดับฮอร์โมนมักพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ  แนวทางการรักษามีได้หลายแนวทางดังนี้คือ
       1. ให้ยาเสริมฮอร์โมนไทรอยด์ในกรณีที่ผลการสุ่มเจาะเนื้อเยื่อไม่พบเนื้อเยื่อผิดปรกติ
       2. ให้ยาต้านการอักเสบและเฝ้าระวังความผิดปรกติของระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในกรณีที่ผลการสุ่มเจาะเนื้อเยื่อพบมีการอักเสบ
       3. ทำการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนหรือออกทั้งหมด ในกรณีที่ผลการสุ่มเจาะเนื้อเยื่อพบเนื้อเยื่อมะเร็ง
       4. การเฝ้าดูอาการและทำการสุ่มเจาะเนื้อเยื่อเป็นระยะๆ ในกรณีที่ผลการสุ่มเจาะเนื้อเยื่อไม่พบเนื้อเยื่อผิดปรกติและไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
          แนวทางการรักษาก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีหลายวิธี แต่ละวิธีมีข้อดีข้อด้อยต่างกัน การเลือกวิธีรักษาจึงขึ้นอยู่กับการปรึกษาหารือระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในแต่ละราย