การรักษาไทรอยด์เป็นพิษ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

การรักษาไทรอยด์เป็นพิษ

Date : 8 November 2016

ข้อมูลจาก : รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคว่า ไทรอยด์เป็นพิษ มักจะมีความสงสัยเกี่ยวกับวิธีการรักษา เพราะแพทย์แต่ละท่าน จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาไทรอยด์เป็นพิษ ในแง่มุมที่ต่างๆกัน เราลองมาทำความเข้าใจดูว่า จะรักษาไทรอยด์เป็นพิษได้ด้วยวิธีใดบ้าง

รักษาไทรอยด์เป็นพิษอย่างไรจึงจะดี
การรักษาหลักของไทรอยด์เป็นพิษ คือ การกินยา ยาที่ใช้รักษา เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ซึ่งยับยั้งทั้งการสร้างฮอร์โมนขึ้นมาใหม่ และ ยับยังการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนที่มีอยู่แล้ว เมื่อรับประทานยาที่ได้ขนาดพอเหมาะ อาการมักจะดีขึ้นในเวลาไม่กี่วัน ในระยะแรกแพทย์อาจจะให้ยาที่ลดอาการใจสั่นร่วมด้วย แต่เมื่อระดับของฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์อยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้ยาลดอาการใจสั่น กินแต่ยาต้านฤทธิ์ฮอร์โมนไทรอยด์ เพียงอย่างเดียวก็พอ

เนื่องจากโรคของไทรอยด์เป็นพิษ ส่วนใหญ่จะเกิดจากปฏิกริยาของร่างกายต่อต่อมไทรอยด์ของเราเอง ทำให้เกิดการกระตุ้นให้ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จนเกิดเป็นพิษขึ้น ปฏิกริยานี้ จะต้องใช้เวลาในการหาย คือ จะไม่หายในทันที แต่จะลดความรุนแรงลงเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 2 ปี ดังนั้น เมื่อกินยารักษาไทรอยด์เป็นพิษจนรู้สึกสบายตัว ไม่เหนื่อย ไม่ใจสั่น น้ำหนักตัวเริ่มขึ้น ก็ไม่ควรหยุดยาทันที เพราะโรคยังเป็นอยู่ แต่ถูกกดไม่ให้มีอาการด้วยยาที่รับประทาน แพทย์จะเป็นผู้ตรวจเลือดให้เพื่อดูว่าอาการของโรคดีขึ้นมากน้อยเพียงใด เมื่ออาการดีขึ้น แพทย์จะค่อยๆ ลดยาลง จนสามารถหยุดยาได้ในที่สุด

ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคนี้ หากหยุดยาเอง จะมีอาการกลับมาเป็นใหม่ เพราะโรคยังอยู่ เมื่อไม่มียาควบคุมจึงมีอาการกลับมาเป็นซ้ำ การปฏิบัติที่ถูกต้องสำหรับคนเป็นโรคนี้ คือ ไม่ควรหยุดยาเอง กินยาให้สม่ำเสมอ ไปตรวจตามแพทย์นัด หากลืมยา หรือ ทำยาหาย ควรไปพบแพทย์เพื่อซื้อยาใหม่ ไม่ควรหยุดยาเพราะจะทำให้เกิดอาการและการควบคุมโรคยากขึ้น

ทำไมบางครั้งกินยาแล้ว คอกลับโตขึ้น
ในผู้ป่วยบางรายเมื่อกินยาแล้ว คอกลับโตขึ้น อาจมีสาเหตุได้ 2 กลุ่มคือ ยาไม่พอ ทำให้โรคยังกำเริบอยู่ คอจึงโตขึ้น ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะมีอาการคล้ายกับตอนเริ่มต้น แต่ในผู้ป่วยอีกกลุ่มเกิดจากการกินยาเกินขนาด คือ โรคเริ่มดีขึ้น แต่ยังกินยาเท่าเดิมอยู่ จึงเกิดคอพอกชนิดไม่เป็นพิษร่วมด้วย คอก็โตขึ้นได้เช่นกัน ข้อแนะนำคือ หากกินยาแล้วคอกลับโตขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์บ่อยๆ เพราะการรักษาจะไม่ต่อเนื่อง

หากกินยาไม่หาย จะทำอย่างไรดี
หากกินยาแล้วไม่ดีขึ้น อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือ การกินไอโอดีนกัมมันตรังสี ระยะเวลาเฉลี่ยในการรักษาด้วยยา มักจะประมาณ 2 ปี ในระหว่างนี้ หากลดยาไม่ได้ หรืออาการมากขึ้น แนะนำให้ทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด หรือกลืนรังสี

การผ่าตัดรักษาไทรอยด์เป็นพิษ
การรักษาไทรอยด์เป็นพิษด้วยการผ่าตัด จะทำการผ่าตัดโดยการวางยาสลบ และตัดเนื้อไทรอยด์ส่วนเกินออกให้เหลือเนื้อไทรอยด์อยู่ในระดับใกล้เคียงกับคนปกติ วิธีนี้ หลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะหายจากอาการของไทรอยด์เป็นพิษทันที แต่มีข้อเสียที่ต้องวางยาสลบ และ อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เสียงแหบ มือชา ฯลฯ ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวพบได้ไม่บ่อยนัก รวมแล้วไม่ถึงร้อยละ 5 แต่เป็นภาวะที่อาจมีผลต่อกิจวัตรตลอดชีวิต ดังนั้น จึงมักจะมีความลังเลในการตัดสินใจผ่าตัด

การรักษาด้วยสารรังสี
ส่วนการรักษาด้วยรังสี จะเป็นการกินน้ำที่ประกอบด้วยสารไอโอดีน กัมมันตรังสี ที่ได้รับการคำนวณขนาดไว้ให้พอดีกับแต่ละบุคคล โดยเมื่อกลืนน้ำรังสีนี้เข้าไปแล้ว สารไอโอดีนกัมมันตรังสี จะไปจับที่เนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ทำให้เกิดการทำลายของเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ จนเหลือเนื้อไทรอยด์น้อยลง อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับคนปกติ วิธีนี้ไม่ต้องเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด แต่มีข้อด้อยที่ว่า อาการไทรอยด์เป็นพิษจะยังไม่หายไปในทันที จะใช้เวลาในการกินยาอยู่อีกประมาณ 6 เดือน และในระยะยาว อาจเกิดภาวะไทรอยด์ทำงานไม่เพียงพอ ต้องกินยาเข้าเสริมการทำงานของต่อมไทรอยด์ (อาจต้องกินยาตลอดชีวิต)

สรุป
การรักษาไทรอยด์เป็นพิษ ส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการกินยา หากกินยาไม่หาย อาจรักษาด้วยการผ่าตัด หรือ การใช้สารรังสี อย่างไรก็ดี การเลือกวิธีการรักษาว่าวิธีไหนเหมาะสม จะต้องใช้วิจารณญาณของแพทย์เลือกให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายครับ ในรายที่ทำได้หลายอย่าง จะเป็นการตัดสินใจร่วมกันของแพทย์และผู้ป่วยครับ