อันตราย! เมลามีน | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

อันตราย! เมลามีน

Date : 8 December 2016

ข้อมูลจาก : ผศ.นพ.ธีระ  กลลดาเรืองไกร ประธานศูนย์พิษวิทยาศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพจาก : pixabay.คอม

จากการปนเปื้อนสารเมลามีนในนมที่ประเทศจีน เป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิต 4 ราย และมีเด็กล้มป่วยกว่า 60,000 คน อีก 150 ราย เกิดอาการไตวาย และลุกลามไปยังหลายประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน จนต้องเร่งตรวจสอบสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์นมผงและสินค้าที่เกี่ยวข้องอย่าง เร่งด่วน  ทำไมเขาถึงใช้สารนี้มาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ  เรามีคำตอบครับ

สารเมลามีน จัดเป็นสารอินทรีย์ ประกอบด้วยสาร ไซยานาไมต์ (Cyanamide) เป็นองค์ประกอบ เมื่อนำไปเผาจะเกิดสารฟอร์มาลดีไฮด์ หรือที่รู้จักคุ้นเคยกันคือ ฟอร์มาลีน  เนื่องจากคุณสมบัติของเมลามีนที่เป็นผงสีขาว มีสูตรโครงสร้างทางเคมี C3H6 N6 (1,3,5 -Triazine -2,4,6 -Triamine) เมื่อ นำมาละลายน้ำจะละลายน้ำได้น้อย มีลักษณะเป็นคอลลอยด์เช่นเดียวกับน้ำนมสดมาก นอกจากลักษณะทางกายภาพที่เหมือนกับนมผงมากจนแทบแยกไม่ออกแล้ว   เมลามีนบริสุทธิ์ยังมีองค์ประกอบของไนโตรเจนสูงมาก 66.67 % คิดเป็นปริมาณโปรตีนได้ 416.66 %

ดังนั้นเมื่อนำเมลามีนมาผสมในน้ำนมหรือนมผงก็ทำให้ผลการตรวจพบเปอร์เซ็นต์ ไนโตรเจนสูงขึ้นด้วย จึงทำให้เข้าใจผิดได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ตรวจนั้นมีโปรตีนสูง คุณภาพดีได้มาตรฐานด้วย ทั้งนี้เพราะการตรวจหาปริมาณโปรตีนในนมผง ปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้โดยตรง แต่จะทำทางอ้อมด้วยการตรวจหาปริมาณไนโตรเจนแทน เนื่องจากโปรตีนมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบเช่นเดียวกัน ขณะที่วิธีวิเคราะห์ไนโตรเจนทางเคมีโดยทั่วไปก็ยังบอกได้แค่ว่ามีไนโตรเจน เท่าไร แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นไนโตรเจนจากสารอะไร จึงต้องใช้วิธีตรวจวิเคราะห์

นอกจากนี้เมลามีนยังปนเปื้อนมาจากยากำจัดศัตรูพืชในทางการเกษตร (Cyromazine) ซึ่งตกค้างในดินและพืช   โดยสัตว์จะได้รับสารดังกล่าวทางอ้อมจากการกินหญ้าหรือพืชที่ปนเปื้อน  ทำให้มีการสะสมในร่างกายและในสารคัดหลั่งของสัตว์  เช่น น้ำนม ซึ่งเป็นสมมตฐานในกรณีที่ตรวจพบสารดังกล่าวโดยไม่ทราบแหล่งที่มาหรือมีการเติมสารนั้นโดยไม่ตั้งใจ
พิษของสารเมลามีน

ฤทธิ์ของสารเมลามีนนั้น ไม่จำเป็นต้องกินเข้าไปโดยตรง เพียงแค่สูดดมเข้าไป หรือผิวหนังสัมผัสก็ทำให้เกิดการระคายเคือง จนส่งผลให้ผิวหนังอักเสบได้แล้ว ฉะนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า ถ้ากินเข้าไป จะเกิดอะไรขึ้น เพราะร่างกายเราไม่สามารถย่อยสารเมลามีนได้   ไตจึงไม่สามารถขับสารพิษออกมาทางปัสสาวะ ดังนั้นเมื่อสารนี้เข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับสารอีกชนิดหนึ่ง คือ Cyanuric acid ทำให้เกิด Melamine cyanurate ซึ่ง จะจับตัวแข็งและสะสมจนกลายเป็นนิ่วในท่อปัสสาวะและกรวยไต ก่อให้เกิดมะเร็งที่ท่อปัสสาวะ ทำลายระบบสืบพันธุ์ และมีรายงานการทดลองว่าทำให้ไตวายอย่างเฉียบพลันได้ในสัตว์ทดลอง 

และเนื่องจากเมลามีนมีคุณสมบัติทนความร้อน จึงนิยมใช้ทำผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งสารเมลามีนนี้จะใช้ในกระบวนการผลิตภาชนะ อาหารสัตว์ ซึ่งนอกจากจีนจะขายในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปขายยัง 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในรูปของเศษเมลามีนที่เหลือจากโรงงานพลาสติก  ซึ่ง มีราคาถูก โดยผู้ขายจากจีนจะใช้ชื่อว่า "ไบโอโปรตีน" หรือโปรตีนเทียมแทนชื่อเมลามีน ให้ผู้เลี้ยงสัตว์นำไปผสมในอาหารสัตว์ เพราะมีราคาถูกกว่าโปรตีนอื่นๆ ที่เป็นพวกธัญพืชหรือเนื้อสัตว์เกือบ 5 เท่า จึงลดต้นทุนการผลิตได้ แต่ในประเทศไทยเองยังตรวจไม่พบว่ามีสัตว์เสียชีวิตจากสารอันตรายนี้ 

ใช้ภาชนะเมลามีนเสี่ยงอันตราย
สำหรับการนำภาชนะที่ทำจากสารเมลามีนมาใส่อาหารในภาวะปกติไม่มีอันตรายถ้าใช้ตามข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์   แต่ ขอเตือนว่าไม่ควรนำภาชนะเมลามีนมาใช้กับไมโครเวฟ เพราะความร้อนจากไมโครเวฟ จะทำให้มีสารฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อนเกินมาตรฐานที่กำหนด ดังนั้น ถ้าจะใช้ภาชนะในการอุ่นหรือปรุงอาหารควรใช้ภาชนะที่ระบุว่าใช้กับไมโครเวฟ หรือเซรามิค และไม่ควรนำภาชนะเมลามีนใส่อาหารร้อนหรือน้ำที่เดือดจัด  ซึ่งมีอุณหภูมิเกิน 100 องศาเซลเซียส  แต่หากต้องการการนำภาชนะเมลามีนมาใส่อาหาร  เช่น ก๋วยเตี๋ยวหรือแกงที่ยกออกจากเตา ขอให้ทิ้งไว้ให้เย็นลงสักระยะก่อนใช้งาน 

ระวังการเลือกซื้อมาบริโภค
ควรเลือกซื้ออาหารที่มีฉลากระบุแหล่งผลิต  มีวันที่ผลิตและวันหมดอายุชัดเจน  บรรจุ ภัณฑ์ไม่เก่าหรือฉีกขาด ผลิตจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ตัวอย่างอาหารที่ควรระวังได้แก่ ปลาป่น โปรตีนจากพืชที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น corn gluten , soy bean meal, soy protein , rice bran, rice protein concentrate โปรตีนจากวุ้นเส้น  อาหารจำพวกผลิตภัณฑ์จากนมหรือมีส่วนผสมของนมจากแหล่งผลิตเช่น จากประเทศจีน  และควรติดตามข่าวสารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  กระทรวงสาธารณสุขด้วย นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีข่าวเกี่ยวกับสารเมลามีน  แต่นี่จะเป็นสัญญาณเตือนให้ทั่วโลกตระหนักถึงพิษภัยเจ้าสารร้ายและหาทางป้องกันอย่างจริงจัง