หวาน-ธรรมชาติ-เพื่อสุขภาพ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

หวาน-ธรรมชาติ-เพื่อสุขภาพ

Date : 15 December 2023

ข้อมูลจาก : รองศาสตราจารย์ ดร. พิสมัย กุลกาญจนาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพจาก : เว็บไซต์กระปุก

หวานเป็นรสที่คนขาดไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับสุขภาพมาก จึงเลือกบริโภคเครื่องดื่มโดยพิจารณาสารปรุงแต่งรสหวานที่มีคุณประโยชน์ต่อ สุขภาพ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มหันมาสนใจใช้สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนสาร สังเคราะห์มากขึ้น

หญ้าหวาน

เป็นพืชที่ให้ความหวานโดยธรรมชาติ ใบหญ้าหวานสด สกัดด้วยน้ำได้สารหวานแห้งประมาณร้อยละหนึ่ง ซึ่งสารหวานนี้มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 150 - 300 เท่า และทนความร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียส จึงไม่สลายตัวหรือเปลี่ยนสภาพจากความร้อนในการปรุงอาหาร

สารให้ความหวานจากหญ้าหวานเป็นสารสกัดที่มาจากธรรมชาติอย่างแท้จริง เป็นความหวานที่ปราศจากแคลอรี่ และไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำตาลในร่างกาย เพราะเมื่อรับประทาน ร่างกายสามารถขับออกมาได้ทันทีไม่มีการสะสม จึงเหมาะกับผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และผู้ที่เป็นเบาหวาน ที่ยังต้องการรสหวานในอาหารและเครื่องดื่ม

รูปแบบของหญ้าหวานที่คนนิยมรับประทานกันมี 2 แบบคือ นำใบหญ้าหวานมาผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เพื่อเติมรสหวานเป็นชาสมุนไพร ยาชงสมุนไพรต่างๆ หรืออาจใช้ในรูปของสารสกัดจากหญ้าหวานเป็นผงสำเร็จรูปบรรจุซองสำหรับเติมลง ในชา กาแฟ หรืออาหารต่างๆ

มารู้จักกับพืชและสารสกัดจากหญ้าหวานกันเถอะ

หญ้าหวานมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stevia Rebaudiana Bertoni หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Stevia อยู่ในวงศ์ Asteraceae (Compositae) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ตามแนวพรมแดนระหว่างประเทศบราซิลและ ปารากวัย ซึ่งชาวปารากวัยมีการใช้ใบหญ้าหวานผสมกับชาดื่มมานานกว่า 1500 ปีแล้ว หญ้าหวานชอบอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิประมาณ 20 - 26 องศาเซลเซียส และขึ้นได้ดีเมื่อปลูกในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600 - 700 เมตร มีการนำมาปลูกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมคือทางภาคเหนือ และบริเวณเขาใหญ่ หญ้าหวานเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กสูงประมาณ 30 - 90 เซนติเมตร ใบเดี่ยว รูปใบหอกกลับ ขอบใบหยัก มีดอกช่อสีขาว ลักษณะคล้ายต้นโหระพา หากมีการปลูกไว้ในบริเวณบ้านเป็นพืชผักสวนครัวจะมีประโยชน์มาก เพราะใบสดหรือตากแห้งต้มกับน้ำก็จะให้สารหวานใช้ปรุงอาหารและเครื่องดื่มได้ อย่างดี ขอแนะนำให้หาพันธ์มาปลูกกันเถอะ

นอกจากนี้มีงานวิจัยพบว่ากากหญ้าหวานที่ผ่านการสกัดสารหวาน(ที่พัฒนาเป็นผง แห้งบรรจุซองสำหรับเติมลงในชา กาแฟ หรืออาหาร) ยังคงมีความหวาน สามารถใช้ทดแทนน้ำตาลในการให้ความหวานในเครื่องดื่มชาชงได้ ซึ่งบรรจุเป็นถุงสำเร็จพร้อมชงดื่มได้ทุกช่วงเวลา ดื่มได้ง่าย ช่วยดับกระหาย จากการประเมินความพึงพอใจผลิตภัณฑ์จากกากหญ้าหวาน ผสมอัญชัน มะลิ กระเจี๊ยบแดง และเตยหอม พบว่าชากากหญ้าหวานผสมมะลิซึ่งประกอบด้วยกากหญ้าหวาน 250 มิลลิกรัม และ มะลิ 80 มิลลิกรัม เป็นสูตรที่มีสี กลิ่น และรสชาติเป็นที่น่าพึงพอใจที่สุด ซึ่งการพัฒนาหาสูตรผสมที่ถูกใจเฉพาะบุคคลก็ทำได้ง่าย ลองทำดูนะคะ