ข้อมูลจาก : พนิดา ใหญ่ธรรมสาร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพจาก : pixabay.com
คลอโรฟีลล์เป็นสารสีเขียวที่พบได้ในพืชผักทั่วไปและในสาหร่ายสีเขียว (chlorella) สารคลอโรฟีลล์ในธรรมชาติจะอยู่ในรูปของคลอโรฟีลล์ที่ละลายในน้ำมัน ส่วนคลอโรฟีลล์ที่นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะเป็นสารสังเคราะห์ที่มีชื่อว่า โซเดียมคอปเปอร์คลอโรฟีลลิน (Sodium copper chlorophyllin) ซึ่งเป็นการดัดแปลงโครงสร้างคลอโรฟีลล์ตามธรรมชาติ ทำให้ได้สารคลอโรฟีลลินที่ยังคงมีสีเขียวอยู่ แต่มีความคงตัวและสามารถละลายน้ำได้ดี สามารถนำมาผสมในอาหารและเครื่องดื่มได้
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า คลอโรฟีลล์ ยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของคลอโรฟีลล์ มีฤทธิ์ยับยั้งเนื้องอกที่เต้านม ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งตับ ช่วยเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาว ช่วยลดกลิ่นตัว กลิ่นของอุจจาระ และกลิ่นของปัสสาวะ ช่วยให้รอยแผลบริเวณผิวหนังซึ่งเกิดจากการฉายแสงเพื่อรักษามะเร็งหายเร็ว ขึ้น และช่วยขับสารพิษ อย่างไรก็ตาม การได้รับคลอโรฟีลล์มากเกินไปอาจเกิดการสะสมและมีผลเสียต่อตับและไตได้
สำหรับข้อมูลด้านความปลอดภัย PDR (Physicians, Desk Reference) for Health มีข้อกำหนดดังนี้
ข้อห้ามใช้: ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้หรือไวต่อสิ่งกระตุ้นที่มีคลอโรฟีลล์และคลอโรฟีลลินเป็นส่วนประกอบ
ข้อควรระวัง: การรับประทานคลอโรฟีลล์และคลอโรฟีลลินเสริมนั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในหญิงตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตร
ผลข้างเคียง: การรับประทานคลอโรฟีลล์และคลอโรฟีลลินเสริม อาจทำให้ปัสสาวะและอุจจาระมีสีเขียว ลิ้นเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเกือบดำ อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย นอกจากนี้ยังพบรายงานการเกิดอาการแพ้สารคลอโรฟีลลิน โดยอาจพบผื่นแพ้ขึ้นตามตัว มีอาการเวียนศีรษะ เหงื่อออกมากและความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็วได้
ขนาดที่ใช้: โดยทั่วไปขนาดที่นิยมใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคือ 100 มก./วัน
ในอเมริกากำหนดความปลอดภัยของสารคลอโรฟีลลินในผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารหรือใช้เป็นสีผสมอาหารได้ไม่เกิน 300 มก./วัน สำหรับผู้ใหญ่ ส่วนเด็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป สามารถรับประทานคลอโรฟีลลินได้ในขนาด 90 มก./วัน
จากข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวกับคลอโรฟีลล์ และคลอโรฟีลลิน จะเห็นได้ว่าคลอโรฟีลล์มีประโยชน์พอสมควร แต่ในการบริโภคนั้นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ความปลอดภัย ความจำเป็นที่ต้องใช้คุณภาพและราคา เป็นต้น ซึ่งหากสามารถบริโภคผักใบเขียวได้ คงไม่จำเป็นที่จะต้องบริโภคคลอโรฟีลล์ที่เป็นสารสังเคราะห์ แต่ถ้าหากมีความจำเป็นต้องใช้ ควรใช้ในขนาดที่เหมาะสม และสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เพื่อสุขภาพของตัวท่านเอง