ข้อมูลจาก : นศภ. ณภัทร สัตยุตม์ นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพจาก : pixabay.คอม
สำหรับคนที่มีนิสัยรับประทานรสจัด รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ชอบรับประทานกาแฟ รับประทานยาแก้ปวดชนิดกัดกระเพาะตอนท้องว่างอยู่บ่อยๆ สูบบุหรี่ดื่มน้ำอัดลม มีความเครียดสะสม วิตกกังวลเป็นประจำ อาการหนึ่งที่คนกลุ่มนี้มักจะพบ คือ อาการปวดท้องจากกรดเกินที่กระเพาะอาหารซึ่งอาจนำไปสู่โรคแผลในกระเพาะอาหาร แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น หรือกรดไหลย้อนได้ในอนาคต โดยยาที่ใช้บรรเทาอาการดังกล่าว หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นยาในกลุ่ม “ยาลดกรด”
ยาลดกรดออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกในการออกฤทธิ์ของยาลดกรดคือการนำความเป็นด่างของยาสะเทินกับกรดใน กระเพาะอาหารหรือลำไส้เพื่อลดความเป็นกรด เมื่อความเป็นกรดลดลงการกัดกร่อนของกรดที่จะทำให้เกิดแผลหรือการทำให้แผลที่ มีอยู่ระคายเคืองจึงลดลงและให้ผลในการบรรเทาอาการ
ยาลดกรดชนิดต่างๆ และคุณสมบัติ
ยาลดกรดที่มีในท้องตลาดมีหลากหลายชนิดซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติเด่นและด้อยแตกต่างกันออกไป ดังนี้
1. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (aluminium hydroxide, AlOH3)
2. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์(magnesium hydroxide, MgOH2) แมกนีเซียมไตรซิลิเกต(magnesium trisilicate) หรือแมกนีเซียมคาร์บอเนต(magnesium carbonate, MgCO3)
ยาสองชนิดนี้มักใช้เป็นสูตรผสมคู่กัน โดยจัดเป็นยาลดกรดที่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย ออกฤทธิ์เฉพาะที่กระเพาะอาหารจึงไม่รบกวนสมดุลกรด-ด่างในร่างกาย โดยอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์มีผลทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ดังนั้นเมื่อใช้เป็นสูตรผสมรับประทานร่วมกันจึงมีผลต่อระบบขับถ่ายน้อย อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์อาจนำมาใช้ในการลดปริมาณฟอสเฟตในเลือดในผู้ป่วยโรคไต
ในขณะที่แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคไต ดังนั้นยาที่เป็นสูตรผสมของยาสองชนิดนี้จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคไต ยาในกลุ่มนี้เช่น แอนตาซิล (Antacil) มาล็อกซ์ (Maalox) อะลัมมิลค์ (Alum milk)
3. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบโซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate, NaHCO3) หรือโซดามินท์ (sodamint)
โซเดียมไบคาร์บอเนตเป็นยาลดกรดชนิดออกฤทธิ์เร็ว แต่มีฤทธิ์ในการรักษาสั้น การใช้ยานี้สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ คุณสมบัติของยาที่สามารถดูดซึมผ่านกระเพาะอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้จึงอาจ ทำให้เลือดและปัสสาวะเกิดสภาวะเป็นด่างมากกว่าปกติ รวมไปถึงการมีโซเดียมมากเกิดในกระแสเลือดได้ จึงเหมาะที่จะใช้ในการบรรเทาอาการกรดเกินหรือการระคายเคืองทางเดินอาหาร เมื่ออาการกำเริบ แต่ไม่เหมาะสำหรับการใช้เป็นประจำเพื่อควบคุมภาวะความเป็นกรด นอกจากยานี้จะใช้ในการลดกรดในทางเดินอาหารแล้ว ยังอาจพบการใช้โซเดียมไบคาร์บอเนตในการควบคุมความสภาวะความเป็นกรดในเลือดใน ผู้ป่วยโรคไตอีกด้วย ยาในกลุ่มนี้ เช่น อีโน (ENO)
4. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate, CaCO3)
แคลเซียมคาร์บอเนตให้ฤทธิ์ในการรักษาและออกฤทธิ์ได้เร็วระดับปานกลาง ยานี้อาจมีผลทำให้ท้องผูกได้
ยาที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพของยาลดกรด
นอกจากตัวยาที่มีฤทธิ์ในการลดกรดแล้ว ยาที่วางขายในท้องตลาดมักผสมตัวยาชนิดอื่นเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการรักษา และบรรเทาอาการอันเนื่องมาจากกรดอีกด้วย ยาดังกล่าว ได้แก่
1. ไซเม็ททิโคน (simethicone) หรือไดเมทิลโพลีไซโลเซน (dimethyl polysiloxane, MPS)
เป็นสารลดแรงตึงผิวที่ทำให้ฟองและแก๊สในกระเพาะอาหารสามารถระบายออกจากอาหาร ที่กำลังถูกย่อยได้ จึงใช้บรรเทาอาการท้องอืด เนื่องจากมีแก๊สมากในกระเพาะและลำไส้ ยาในกลุ่มนี้เช่น แอร์เอ็กซ์ (Air-X)
2. บิสมัท ซับซาลิไซเลต (bismuth subsalicylate)
เป็นยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อที่ทำให้เกิดภาวะกรดเกินในกระเพาะอาหาร โดยตัวยามีความสามารถในการลดกรดอย่างอ่อนๆ ยาในกลุ่มนี้เช่น แกสโตร-บิสมอล (Gastro-bismol)
3. กรดอัลจินิก (algenic acid) หรือ โซเดียมแอลจิเนต (sodium alginate)
เป็นสารกลุ่มเดียวกับแป้งที่เมื่อสัมผัสกับกรดจะพองตัวเป็นเจลที่มีความสามารถในการจับกับแก๊ส
คาร์บอนไดออกไซด์เกิดเป็นโฟม โดยโฟมที่เกิดขึ้นจะมีความหนืดและลอยตัวเป็นแพอยู่บนผิวของอาหาร
ที่ถูกย่อยอยู่ในกระเพาะอาหาร ยาจึงช่วยลดการระเหยของไอกรดไปที่ยังหลอดอาหาร ลดการระคาย
เคืองจากกรดในกระเพาะ มักใช้ร่วมกับยาลดกรดประเภทโซเดียมไบคาร์บอเนต ยาในกลุ่มนี้เช่น กาวิสคอน (Gaviscon)
หมายเหตุ Gaviscon เป็นยาที่มีส่วนประกอบของโซเดียมไบคาร์บอเนต แคลเซียมคาร์บอเนต และโซเดียมแอลจิเนต โดย Gaviscon dual action จะมีปริมาณตัวยาที่ใช้ในการลดกรดมากกว่า Gaviscon สูตรปกติ