5 มาตรการ ป้องกันวัณโรคดื้อยา | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

5 มาตรการ ป้องกันวัณโรคดื้อยา

Date : 19 January 2024

ข้อมูลจาก : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาพจาก : pixabay.com

กรมควบคุมโรค กำหนด 5 มาตรการ ป้องกันปัญหาวัณโรคดื้อยา แนะผู้ป่วยห้ามหยุดยาหรือลดยาเองโดยเด็ดขาด

นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีสำนักข่าวต่างประเทศรายงานเหตุการณ์ครอบครัวหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่ป่วยเป็นวัณโรคดื้อยาและสิ้นหวังฆ่าตัวตายทั้งบ้านนั้น สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความสำคัญของวัณโรคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่งผลกระทบทั้งร่างกาย ครอบครัว และสังคม และเพื่อควบคุมไม่ให้ลดการเผชิญกับปัญหานี้ของประเทศไทย ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จึงได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ระหว่างปี 2560 - 2564 ตั้งเป้าลดการป่วย การเสียชีวิต การขาดยา และป้องกันการดื้อยา ภายในปี 2564

สำหรับมาตรการในการดำเนินงาน ควบคุมป้องกันวัณโรคดื้อยาได้วางไว้ 5 มาตรการ คือ มาตรการคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาและรีบรักษา มาตรการพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการชันสูตรวัณโรค ให้มีศักยภาพในการวินิจฉัยวัณโรคและวัณโรคดื้อยา ด้วยการนำเทคโนโลยี การวินิจฉัยเร็วด้วยวิธีทางอณูชีวโมเลกุลมา ที่สามารถตอบผลได้ภายใน 2 ชั่วโมงมาใช้ มาตรการสนับสนุนจัดหาเวชภัณฑ์รักษาวัณโรคดื้อยา เพื่อให้ผู้ป่วยทุกรายเข้าถึงบริการ มาตรการพัฒนาสูตรยารักษาวัณโรคดื้อยาให้มีระยะเวลาในการรักษาสั้นลง และมาตรการช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง จัดให้มีเงินสงเคราะห์ผู้ป่วยวัณโรค

สำหรับขอแนะนำประชาชนให้สังเกตอาการเจ็บป่วย โดยอาการของวัณโรคจะเริ่มจากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน สำหรับผู้ป่วยวัณโรค แม้ว่าอาการจะดีขึ้นจนใกล้เคียงปกติแล้ว ก็ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์แนะนำ ห้ามหยุดยาหรือลดยาเองโดยเด็ดขาด เพราะแม้อาการจะหมดแต่เชื้อยังอยู่ หากไม่กินยาให้ครบเชื้อวัณโรคที่ยังหลงเหลืออยู่ในร่างกายจะปรับตัวให้ทนต่อยาเดิมจนเกิดภาวะเชื้อดื้อยา ถ้าผู้ป่วยกลับมามีอาการอีกครั้ง จะหายารักษาได้ยากขึ้น

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาระดับนานาชาติ โดยในปี 2558 พบผู้ป่วยวัณโรค 10 ล้านคน และเสียชีวิตประมาณ 1.8 ล้านคน นับเป็น 1 ใน 10 สาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดของคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาโรควัณโรคสูง ทั้งวัณโรคในผู้ติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรคดื้อยาหลายขนาน โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกประเภท ราว 117,000 คนต่อปี สำหรับวัณโรคที่กำลังเป็นปัญหามากในขณะนี้คือ วัณโรคดื้อยาหลายขนาน ซึ่งในประเทศไทยคาดว่าจะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้มากถึง 4,500 คน