รู้จัก “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H1N1” | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

รู้จัก “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H1N1”

Date : 8 February 2017

ข้อมูลจาก : ศ.ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะภาควิชาจุลชีววิทยา ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพจาก : pixabay.com

จากกรณีไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (ชื่อเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลกว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/H1N1/2009”) ระบาดลุกลามไปในหลายทวีป แม้จะมีอัตราผู้เสียชีวิตต่ำไม่รุนแรงเท่าไวรัสไข้หวัดนก แต่ก็สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก เพราะรูปแบบการติดเชื้อจากคนสู่คนแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้ในหลายประเทศต่างตื่นตัว หันมาทำความรู้จักและเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันโรคนี้แก่ประชาชน

วันนี้เราไปทำความรู้จักเพื่อเตรียมพร้อมป้องกันโรคนี้กันค่ะ

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/H1N1 เกิดจากการผสมผสานของไวรัสสายพันธุ์ของคน หมู และนก ไม่เป็นที่ปรากฏว่าเชื้อนี้ได้เริ่มติดในคนเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใด แต่เมื่อมีการระบาดเกิดขึ้นแล้ว พบว่าเป็นการแพร่กระจายและติดต่อจากคนสู่คน เชื้อนี้มิได้พบในหมูทั่วไป จึงไม่ติดต่อโดยการสัมผัสหรือกินเนื้อหมู ผู้ป่วยด้วยโรคไวรัสชนิดใหม่นี้อาจมีอาการน้อยมากจึงถึงรุนแรงมาก ๆ และปอดบวม ซึ่งก็เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ที่มีระบาดอยู่เป็นประจำ

การแพร่เชื้อ…

เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ สามารถแพร่ไปยังผู้อื่นโดยการ ไอ หรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด หรือติดจากมือและสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ นอกจากนี้เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก และตา เช่น การแคะจมูก ขยี้ตา ที่สำคัญ ผู้ที่มีอาการรุนแรงและถึงแก่กรรมมักจะอยู่ในช่วงอายุ 20-40 ปี

*เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ไม่ติดต่อจากการสัมผัสหมูหรือรับประทานเนื้อหมูแน่นอน

อาการที่น่าสงสัย….

  • ระบบทางเดินหายใจมีความผิดปกติ อาทิ น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ
  • ไข้ขึ้นสูง ประมาณ 38 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านี้
  • อาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วยในผู้ป่วยบางราย

          * ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะโรคปอด โรคหัวใจ โรคเรื้อรังต่าง ๆ อาจส่งผลให้เกิดอาการปอดบวม หัวใจวาย และเสียชีวิตได้

โรคนี้รักษาได้ไหม?

ยาต้านไวรัสไขหวัดใหญ่มีอยู่ไม่กี่ชนิดนัก ยาชื่อ “โอเซลตามิเวียร์” สามารถรักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่นี้ได้ แต่ควรใช้เท่าที่จำเป็นและภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะหากใช้พร่ำเพรื่อเชื้ออาจดื้อยาได้ ส่วนวัคซีนป้องกันยังอยู่ในขั้นตอนการค้นคว้าวิจัย และอาจจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควร จึงจะไปถึงขั้นที่จะสามารถนำมาใช้สำหรัประชาชน และในประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการระบาดของโรค

*ปัจจุบันมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาล แนะนำให้ฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง วัคซีนนี้เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง หรือมีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคปอด และโรคหัวใจ วัคซีนที่มีประจำฤดูกาลนี้ไม่สามารถป้องกันไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ได้ แต่อาจช่วยลดความรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งยังต้องการการศึกษาวิจัยต่อไป

ป้องกันอย่างไร?

หากท่านป่วยด้วยอาการไข้ เจ็บคอ ไอ และได้เดินทางไปในสถานที่ที่มีการระบาดก่อนหน้านี้มาไม่นานเกิน 7 วัน อาจมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน และหากมีภาวะความเสี่ยงของการระบาดเกิดขึ้น ควรปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในการป้องกันไม่ให้ตนเองติดเชื้อ ดังนี้

  • รักษาร่างกายให้แข็งแรง
  • ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ใน ที่สาธารณะ
  • หลีกเลี่ยงการพบปะกับคนที่กำลังป่วยหรือเป็นหวัด
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝูงชนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า
  • หากป่วยควรเก็บตัวอยู่บ้าน และใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อให้กับคนในบ้าน
  • ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจามด้วยกระดาษทิชชู่ แล้วทิ้งขยะทันที หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าซึ่งจะใช้ซ้ำได้ 2-3 ครั้ง โดยกลับด้านสะอาดขึ้นมาใหม่ (ในกรณีที่ไม่มีกระดาษทิชชู่ ควรปิดปากและจมูกด้วยต้นแขนเสื้อ) เพื่อไม่ให้เชื้อโรคสัมผัสกับมือหรือแพร่กระจายในอากาศ
  • ไม่ควรกินยาแอสไพรินเองก่อนปรึกษาแพทย์ เนื่องจากยาจะออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของเกล็ดเลือด