กินเผ็ดแบบไทย ดีต่อกาย | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

กินเผ็ดแบบไทย ดีต่อกาย

Date : 8 March 2017

ข้อมูลจาก : หนังสือ “เผ็ดร้อนเป็นยา”โดย สำนักศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภาพจาก : pixabay.com


เมื่อพูดถึงอาหารไทยก็ต้องนึกถึง “ความเผ็ดร้อน หน้าตาสีสันฉูดฉาด และเครื่องเทศส่วนผสมการปรุงที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนชาติใด” นอกจากความอร่อยนั้น ความเผ็ดร้อนที่อยู่ในอาหารไทยยังเต็มไปด้วยคุณค่าที่ดีต่อร่างกายอีกด้วย

โรคฮิตอย่างโรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมดล้วนมีสาเหตุมาจากการบริโภคที่ผิดหลักโภชนาการเช่น ความนิยมของอาหารฟาสต์ฟู้ดที่เต็มไปด้วยแป้งและไขมัน รวมถึงรสหวาน สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เราห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่า “สุขภาพดี”
 กินแบบไทย รสชาติไทย ดี๊ดีต่อสุขภาพ

อาจารย์แววตา เอกชาวนา นักโภชนาการบำบัดและผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ วิทยากรประจำศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ได้กล่าวไว้ว่า “ อาหารไทยเต็มไปคุณค่าทางโภชนาการ และสารอาหารที่ครบถ้วน รวมถึงมีความหลากหลายของสมุนไพร และเครื่องเทศที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นชาติไทยมาแต่สมัยโบราณ อาหารไทยจึงเป็นอาหารเพื่อสุขภาพโดยแท้จริง”

ต้นทางของความเผ็ดร้อนของอาหารไทยส่วนใหญ่คือ “พริก” ที่มีสรรพคุณเป็นยาขับลม บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ทำให้เจริญอาหารบรรเทาอาการไข้หวัด ลดน้ำมูก ช่วยลด การอุดตันของหลอดเลือด ลดไขมันในเลือด รวมทั้งสีของพริกที่ไม่ว่าจะเป็นสีเหลืองสีส้มและสีแดงคือสารตั้งต้นของวิตามินเอ ที่ช่วยบำรุงสายตา อีกทั้งในพริกยังมีวิตามินซีมากกว่าในผลส้มเสียอีก แต่วิตามินซีในพริกจะสลายตัวเมื่อถูกความร้อน หากใครที่ต้องการวิตามินซีจากพริกก็จะต้องกินพริกสดเท่านั้น


5 อาหารไทย “เผ็ดร้อน”มากประโยชน์

“น้ำพริก” อาหารเผ็ดร้อนที่อยู่คู่โต๊ะรับประทานอาหารของคนไทย
น้ำพริก เคียงคู่กับผักสด ผักลวก ปลานึ่ง เมนูง่ายๆ ที่มากคุณประโยชน์ เพราะวัตถุดิบที่อยู่ในน้ำพริกล้วนเต็มไปด้วยสมุนไพรรสเผ็ดร้อนไม่ว่าจะเป็นพริกขี้หนูกระเทียมไทย กระชาย หอมแดง ตะไคร้เป็นต้น

“ต้มยำกุ้ง” เมนูที่โด่งดังไปทั่วโลก
เป็นเมนูที่เสมือนเป็นหม้อยาหม้อใหญ่ที่อุดมไป ด้วยสมุนไพรนานาชนิดไม่ว่าจะเป็นพริกขี้หนู ตะไคร้ ใบมะกรูด ข่า รากผักชี ซึ่งแต่ละชนิดล้วนมีสรรพคุณดูแลสุขภาพร่างกาย อาทิ ใบมะกรูดช่วยแก้จุกเสียด ขับลม พริกช่วยบำรุงธาตุ เป็นต้น
มีผลจากการศึกษาพบว่า น้ำพริก ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มสมุนไพรเผ็ดร้อนนั้น มีฤทธิ์ต่อต้านสารอนุมูลอิสระและชะลอความชรา สามารถกำจัดเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหารได้หลายชนิด กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและระบบการหายใจ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค อีกทั้งยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคทางสมอง เป็นต้น

“ส้มตำ” รสแซ่บใครๆ ก็ชอบ
ส่วนผสมของผักและสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น มะละกอ กระเทียม มะเขือเทศ พริกขี้หนู ถั่วฝักยาว ซึ่งมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยสร้าง ภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และชะลอวัย แต่การทานส้มตำให้ได้ประโยชน์ต้องคำนึงถึงความสะอาดของวัตถุดิบเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเป็นเมนูที่ไม่ผ่านความร้อน อาจเสี่ยงทำให้เกิดท้องเสียได้โดยเฉพาะต้องระวังเชื้อราอย่าง ‘อะฟลาทอกซิน’ ที่มักอยู่ในถั่วลิสง กุ้งแห้ง กระเทียมที่มีโทษต่อตับ และไม่ควรทานส้มตำเกิน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์หากมีส่วนผสมของ ปูดองเค็มหรือปลาร้า ควรทานเพียงอาทิตย์ละ 1 ครั้งเท่านั้นที่สำคัญส่วนผสมนี้ต้องต้มให้สุกก่อน

ตามมาด้วย “หมูย่างน้ำตก”
อุดมด้วยกลุ่มสมุนไพรเผ็ดร้อนของพริกขี้หนูสดผสมพริกป่นกลมกล่อมด้วยหอมแดงต้นหอม ผักชี ใบสะระแหน่คลุกเคล้ามะนาว รวมถึงคลุกกับข้าวคั่วเพื่อช่วยดูดซับแก๊สในช่องท้องที่เกิดจากหมูไม่ย่อย เมื่อเทียบกันแล้ว สเต็กบาร์บีคิวของฝรั่งที่ทาเนยแสนเลี่ยนจิ้มกับซอสมะเขือเทศ น่าจะต้องหลีกทางให้กับหมูย่างน้ำตก แต่จะให้ดีควรเลือกกินหมูไร้มันด้วย

ปิดท้ายด้วย “มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง”
รสเผ็ดหอมกรุ่น ทั้งยังมีพริกแห้งกับ พริกไทย รวมถึงกลุ่มเครื่องเทศไทยรสเผ็ดร้อนอื่น เช่น กระเทียมไทย ตะไคร้ซอยข่าแก่ หอมแดง หอมใหญ่ รากผักชีอบเชย ลูกกระวาน ใบกระวาน กานพลู ฯลฯ ซึ่งให้คุณค่าทางโภชนาการเต็มที่จากโปรตีนและไขมันของเนื้อสัตว์ที่ช่วยย่อยด้วยกลุ่มเครื่องเทศรสเผ็ดร้อน จึงทานได้โดยไม่มีอาการท้องอืดเฟ้อ จุกเสียดจากอาหาร

เห็นแบบนี้คงหิวแน่เลย...แต่อย่าลืมว่าการที่เราจะมีสุขภาพดีได้ไม่เพียง แค่การกินอาหารที่มีประโยชน์ แต่จะต้องมีการออกกำลังกายที่เหมาะสม ตลอดจนการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เป็น 3 ส่วนผสมที่ลงตัวของการมีสุขภาพดีที่ยั่งยืน