ข้อมูลจาก : นายแพทย์คมกฤช สุวรรณกูฏ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป โรงพยาบาลเมืองพัทยา
การตรวจสุขภาพ มีความเกี่ยวข้องอยู่ 2 เรื่องคือ
1. การค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา โดยที่ยังไม่มีอาการผิดปกติให้สังเกตได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มะเร็งปากมดลูกระยะแรก เป็นต้น ถ้ามีอาการเจ็บป่วยปรากฏให้เห็นแล้วค่อยไปตรวจ ไม่ใช่การตรวจสุขภาพ แต่เป็นการตรวจเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคอะไร เพื่อยืนยันผล เมื่อทราบผลการตรวจที่แน่นอนแล้วก็จะได้ให้การรักษาอย่างเหมาะสม
2. การค้นหาพฤติกรรมเสี่ยง และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เพื่อจะได้รู้ว่าสุขภาพของเราเป็นอย่างไรบ้าง และถ้าพบว่าเรามีพฤติกรรมเสี่ยงหรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอะไรตามพื้นฐานข้อมูลสุขภาพของแต่ละคน แพทย์ที่ตรวจก็จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา
วัย 18-60 ปี ต้องตรวจอะไรบ้าง
การตรวจสารเคมีในเลือด
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete Blood count หรือ CBC ) เป็นการตรวจสกีนภาวะทั่วไปของระบบเลือด ยกตัวอย่างภาวะโลหิตจาง เนื่องจากภาวะซีดจากโรคโลหิตจางธาลัสซิเมีย เป็นอุบัติการณ์ของคนไทยร้อยละ 30 หรือ 20 ล้านคนมียีนธาลัสซิเมียชนิดใดชนิดหนึ่ง จึงมีคำแนะนำว่าให้ตรวจ CBC อย่างน้อย 1 ครั้งหากไม่เคยตรวจมาก่อน
- ตรวจระดับน้ำตาล ( FPG หรือ FBS) เพื่อคัดกรองเบาหวาน ตั้งแต่อายุ 35 ปีตรวจทุก 3 ปี
- ตรวจระดับไขมันในเส้นเลือดชนิด cholesterol และ ไขมันในเลือดHDL ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 5 ปี เพื่อบอกถึงภาวะไขมันชนิดต่างๆในเลือด และคำแนะนำในการควบคุมการรับประทานอาหาร
- ระดับ serum Creatinine การทำงานของไต เพื่อบ่งชี้แนวโน้มการเสื่อมของเนื้อไต และประสิทธิภาพไต ควรตรวจตอนอายุกว่า 60 ปี หนึ่งครั้งต่อปี
- การตรวจปัสสาวะ แล้วแต่ปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคล ควรตรวจตอนอายุมากกว่า 60 ปี หนึ่งครั้งต่อปี
การตรวจคัดกรองมะเร็ง
- clinical breast examination มะเร็งเต้านม อายุ 30-39 ปี ตรวจทุก 3 ปี,อายุ 40 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1 ปี และอายุ 70 ปีขึ้นไป ตรวจตามความเสี่ยง
- การตรวจเนื้อเยื่อจากปากมดลูก เพื่อเสาะหาเนื้อเยื่อผิดปกติป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งพบบ่อยในผู้หญิงทั่วไป
การตรวจสุขภาพยังมีความจำเป็นอยู่ เพราะมีหลายโรคที่เป็น “ภัยเงียบ” เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มะเร็งปากมดลูกระยะแรก เป็นต้น เพราะการที่ไปตรวจสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยที่ร่างกายยังไม่มีอาการแสดงนั้น จะมีโอกาสตรวจพบโรคที่เป็น “ภัยเงียบ” ในระยะแรกเริ่มมากกว่า อีกทั้ง การที่เจอโรคตั้งแต่แรกจะเยียวยารักษาได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก หรือรักษาให้หายขาดได้เพียงแต่ต้องตรวจตามที่จำเป็นและเหมาะสมกับตัวเราเท่านั้น มิเช่นนั้นจะเกิดโทษได้.