ข้อมูลจาก : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
ภาพจาก : pixabay.com
“อะไรที่ดีต่อหัวใจ ย่อมดีต่อสมองเสมอ” คนทั่วไป มักให้ความสนใจต่อการป้องกันโรคหัวใจ เพราะเป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิตอย่างฉับพลัน จึงเป็นที่ตระหนกและกล่าวขานกันมาก
การป้องกันโรคหัวใจ (หลอดเลือดหัวใจตีบ) พึงปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องของ “4 อ.” ดังต่อไปนี้
1. อาหาร หมั่นกินผักผลไม้ เมล็ดธัญพืช และเครื่องเทศ (เช่น พริก กระเทียม ขิง ข่า ขมิ้น ตะไคร้) โดยกินเมล็ดธัญพืช (เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่ว ลูกเดือย) และกล้วย ซึ่งให้แคลอรี (พลังงานในรูปของคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนใหญ่) ประมาณวันละ 1 กิโลกรัม กินผักและผลไม้ที่ไม่หวาน (ไม่ให้พลังงาน) ให้หลากหลายประมาณวันละครึ่งกิโลกรัมเป็นอย่างน้อย
ควรกินโปรตีนจากปลาและเต้าหู้ (เมล็ดถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง) เป็นหลัก สามารถกินไข่ไก่วันละ 1 ฟอง (ถ้าเคยตรวจพบไขมันในเลือดสูงควรลดไข่แดงลง) และนมพร่องไขมัน กินเนื้อเป็ดไก่ได้บ้างเป็นครั้งคราว แต่ควรลดเนื้อแดง (ได้แก่ เนื้อหมูและเนื้อวัว)
ควรลดอาหารที่มีไขมันสูง ควรกินน้ำมันพืช (ได้แก่น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันทานตะวัน น้ำมันงา น้ำมันมะกอก) แทนน้ำมันหมู และควรลดการบริโภคน้ำตาล น้ำหวาน และของหวาน
ควรเลือกกินอาหารที่หลากหลาย สะอาด ถูกหลัก และสามารถทำให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์พอดี อย่าผอมไปหรืออ้วนไป มีการขับถ่ายอุจจาระเป็นก้อนโตแต่นุ่มและขับถ่ายง่ายทุกวัน
2. ออกกำลังกาย หมั่นออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก เล่นฮูลาฮูป (เร็วๆ) เต้นรำจังหวะเร็ว เป็นต้น อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์หรือวันเว้นวัน นานครั้งละ 30 นาทีเป็นอย่างน้อย โดยให้รู้สึกมีเหงื่ออกนิดๆ และหัวใจเต้นเร็วขึ้น
ในแต่ละสัปดาห์ ยังควรออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ (เช่น วิดพื้น ยกน้ำหนัก) และแบบยืดเส้นยืดสาย (เช่น กายบริหาร รำกระบอง โยคะ รำมวยจีน) ประกอบเป็นครั้งคราว
3. อารมณ์ นอนหลับให้เพียงพอ (ประมาณวันละ 6-8 ชั่วโมง) หลีกเลี่ยงการทำงานหักโหม อดหลับอดนอน ทำงานอดิเรก (เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นดนตรี ร้องเพลง วาดภาพ อ่านหนังสือ) และหาทางพักผ่อนหย่อนใจ (เช่น ท่องเที่ยว ชมธรรมชาติ) ควบคุมอารมณ์ไม่ให้เกิดอารมณ์รุนแรงหรือเครียดจัด ฝึกสมาธิ เจริญสติ ทำงานช่วยเหลือสังคม และหมั่นฝึกมองโลกในแง่ดี ลดละการยึดมั่นถือมั่น
4. อันตราย ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด ส่วนผู้ที่น้ำหนักเกิน เป็นเบาหวาน ความดันสูงหรือไขมันในเลือดสูงก็ต้องได้รับการรักษา และดูแลตัวเองจนสามารถควบคุมโรคได้ดี
พฤติกรรม 4 อ. ดังกล่าวช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดหัวใจแข็งและหนาตัว (ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง หัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง) เป็นต้นเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และหัวใจวายกะทันหันได้
พฤติกรรมดังกล่าวยังช่วยป้องกันหลอดเลือดแดงทุกส่วนของร่างกาย รวมทั้งหลอดเลือดสมองไม่ให้แข็งและหนาตัวได้เช่นเดียวกัน สามารถป้องกันอาการสมองเสื่อม และโรคอัมพฤกษ์อัมพาตเนื่องจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง ดังนั้น จึงกล่าวได้เต็มปากว่า “อะไรที่ดีต่อหัวใจ ย่อมดีต่อสมองเสมอ”
นอกจากเรื่องของสุขภาพหลอดเลือดที่เลี้ยงสมองแล้ว ยังมีสุขภาพของสมองด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหน้าที่ของสมอง ได้แก่ การรับรู้ (การเรียนรู้ เชาวน์ปัญญา) ความรู้สึก (รวมทั้งอารมณ์) ความคิด และความจำ ซึ่งบางครั้งเรียกรวมๆ ว่า “จิต” หรือ “จิตใจ”
ในการทำหน้าที่ของสมองให้สมบูรณ์จำเป็นต้องอาศัยพฤติกรรม 4 อ. ดังกล่าวเป็นพื้นฐาน และยังมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่พึงใส่ใจซึ่งจะขอกล่าวถึงเฉพาะที่สำคัญดังนี้
1. อาหาร ควรเน้นเพิ่มเติมในการบริโภคไขมันที่มีชื่อว่า โอเมกา-3 (แบ่งย่อยออกเป็น DHA และ EPA เป็นต้น) ซึ่งมีมากในปลาทั้งปลาทะเลและปลาน้ำจืด (เช่น ปลานิล ปลาดุก ปลาสวาย ปลาช่อน) และอาหารทะเล (เช่น ปลาทู ปลากะพง กุ้ง หอย ปลาหมึก) โอเมกา-3 จะถูกนำไปสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทและปลอกหุ้มกิ่งก้านของเซลล์ประสาท ทำให้ความจำดี ถ้าขาดอาจทำให้สมองเสื่อมได้ ควรกินสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งหรือวันเว้นวัน
ควรบริโภคพืชผักหรืออาหารที่มีสารฟลาโวนอยด์ (flavonoids) เช่น (ถั่วเหลือง เต้าหู้ บลูเบอร์รี่ องุ่น พริกไทย หัวหอม เซเลรี น้ำชา ช็อกโกแลต) ซึ่งจะช่วยให้ความจำดีและอารมณ์ดี
ทุกวันควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และอย่าอดอาหารหรือปล่อยให้หิว การทำงานของสมองต้องการน้ำ น้ำตาลจากอาหารที่บริโภค และออกซิเจน (จากอากาศที่หายใจ) ในการสร้างพลังงานแก่เซลล์สมอง ให้สามารถทำงานได้เป็นปกติ หากขาดอันใดอันหนึ่ง เช่น ขาดน้ำ ขาดอากาศ ขาดน้ำตาล ก็จะทำให้สมองตื้อ คิดอะไรไม่ออก ไม่สดชื่น หากขาดอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการชักหรือหมดสติได้
2. ออกกำลังกาย หมั่นทำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง กระตุ้นการงอกของเซลล์สมองใหม่ ทำให้สมองทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิผล ความจำดี รู้สึกสดชื่น
การฝึกหายใจลึกและช้า (นาทีละไม่เกิน 10 ครั้ง) ก็ช่วยให้สมองได้ออกซิเจน มีผลดีต่อสมองและจิตใจเช่นเดียวกัน
3. อารมณ์ (ในที่นี้รวมถึงจิตใจที่ทำหน้าที่หลายด้าน รวมทั้งอารมณ์) ต้องหลีกเลี่ยงการเกิดความเครียด เพราะจะทำให้หลั่งฮอร์โมนสตีรอยด์ที่ทำลายเซลล์สมอง ทำให้ความจำเสื่อม
ควรกระตุ้นความจำและการเรียนรู้ ด้วยการอ่านหนังสือ การเขียนบันทึก การต่อภาพ (จิกซอว์) การต่อคำ (crossword) การเล่มเกมฝึกสมอง การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา การคบหาสมาคมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้คนต่างๆ
ควรหมั่นฝึกสติ สมาธิ ทำอะไรอย่างใจจดใจจ่ออยู่ตลอดเวลา จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของสมองส่วนหน้าตรงกลาง (middle prefrontal area) ทำให้เกิดความสมดุลของร่างกายและอารมณ์ นำไปสู่สุขภาวะทาง กาย–จิต–สังคม
สำหรับเด็กเล็กควรให้การเลี้ยงดูด้วยความรักความอบอุ่น ซึ่งจะส่งเสริมให้มีพัฒนาการของสมอง และจิตใจที่ดีต่อไปในอนาคต
4. อันตราย ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารเสพติด สารโลหะหนัก (เช่น ตะกั่ว ปรอท) ซึ่งเป็นตัวทำลายเซลล์สมอง ทำให้ความจำเสื่อม มีอารมณ์ร้ายและพฤติกรรมผิดเพี้ยนได้
ควรป้องกันไม่ให้สมองได้รับบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือน เช่น อุบัติเหตุ การเขย่าศีรษะ การกระแทกศีรษะ ทำให้เซลล์สมองเสื่อม ความจำเสื่อมได้
ควรหลีกเลี่ยงการนั่งดูทีวี นั่งเล่นคอมพิวเตอร์มากเกินไป รวมทั้งการนั่งอยู่หรือนอนอยู่เฉยๆ เป็นเวลานาน (จนรู้สึกน่าเบื่อ) อาจทำให้สมองล้า ขาดการกระตุ้นให้เรียนรู้ รวมทั้งอาจทำให้สมาธิสั้นได้
จงหันมาใส่ใจดูแลสมอง (หัวใจและจิตใจ) ด้วยหลัก “4 อ.” กันเถอะ!