บทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ “เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส” ได้นำเสนอผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ดื่มนมมาก อาจส่งผลต่อความสูงในช่วงเป็นผู้ใหญ่ของทารก
นักวิจัยได้ติดตามศึกษาคู่แม่-ลูกชาวเดนมาร์ก 685 คู่นานกว่า 20 ปี โดยได้ติดตามการบริโภคนมระหว่างการตั้งครรภ์ของแม่ ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับส่วนสูงของเด็กทารกแรกเกิดและเด็กวัย 20 ปี และได้มีการเผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารด้านการแพทย์ยุโรป “เดอะ ยูโรเปียน เจอร์นัล ออฟ คลินิคอล นิวทรีชั่น” เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา
ผลการศึกษาระบุว่า ภายหลังการปรับส่วนสูง อายุ ดัชนีมวลกาย และอีกหลายปัจจัยของแม่พบว่า แม่ที่ดื่มนมมากกว่า 5 ออนซ์ต่อวัน ซึ่งส่วนมากดื่มนมชนิดไขมันต่ำ มีลูกที่มีขนาดโตกว่าค่าเฉลี่ย มากกว่าผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ดื่มนมน้อยกว่า
และเมื่อเด็กเหล่านี้ ซึ่งมีแม่ที่ดื่มนมมากกว่า 5 ออนซ์ต่อวัน ในระหว่างตั้งครรภ์ มีอายุ 20 ปี จะมีส่วนสูงเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งนิ้ว นอกจากนี้ เด็กเหล่านี้ยังมีค่าเฉลี่ยของระดับเลือด ไอจีเอฟ-1 ซึ่งเป็นปัจจัยในการเติบโตที่มีส่วนเชื่อมโยงกับอินซูลินสูงขึ้นร้อยละ 8 ด้วย ซึ่งปัจจัยที่ว่านี้ช่วยส่งเสริมการเติบโตของกระดูก
นักวิจัยจากศูนย์โครงการทารกในครรภ์ที่โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ระบุว่า ไม่มีการลดความอ้วนก่อนการคลอดบุตรหรือปัจจัยอื่น ที่บ่งบอกเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเด็ก และว่า การดื่มนมอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มน้ำหนัก ความสูงของเด็กแรกเกิด และมีความเป็นไปได้ว่า การดื่มนมตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะส่งผลต่อชีวิตในวัยผู้ใหญ่ของเด็กทารกที่แม่ดื่มนมระหว่างตั้งครรภ์
ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่คนใด ย่อมต้องการให้ลูกของตนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ และหากคุณแม่ต้องการให้ลูกมีส่วนสูงเพิ่มขึ้นในวัยผู้ใหญ่ ก็ต้องดื่มนมให้มากระหว่างตั้งครรภ์
ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์