ยาแก้ปวดหัว ทำหัวใจพัง | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

ยาแก้ปวดหัว ทำหัวใจพัง

Date : 28 March 2017

ข้อมูลจาก : ศ.นพ.ธีระวัฒน์  เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ภาควิชาอายุรศาสตร์ (ประสาทวิทยา) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพจาก : pixabay.com

ทราบกันมานานแล้วว่า ยาแก้ปวด ทำกระเพาะพัง ไตวาย และรับรู้กันมากขึ้นตั้งแต่ปี 2004 จนปัจจุบัน พบว่ามีผลต่อเส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมอง ทำให้เกิดการอุดตัน เกิดหัวใจวาย เป็นอัมพฤกษ์ได้

ในปีนั้นเป็นที่ฮือฮากันทั่วโลก เมื่อยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID : NonSteroidal Anti-Inflammatory Drug) และออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงโดยยับยั้ง CycloOxygenase-2 (COX-2 Inhibitor) ที่ชื่อว่า Vioxx (Rofecoxib) ถูกพบว่าทำให้เกิดปัญหา มีคนตายจากภาวะหัวใจวายมากมาย จนทำให้บริษัทต้องถอนยาตัวนี้ออกจากท้องตลาด

ยากลุ่มนี้ที่ยังมีใช้อยู่ และที่เป็นพี่น้องกับ Vioxx แม้ว่าจะแพงขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดจากอันตรายต่อไต กระเพาะ รวมทั้งเส้นเลือด ตัวอย่างคือ Celecoxib (เช่น Celebrex) Etoricoxib (เช่น Arcoxia)

สำหรับกลุ่มยาถูกลงมาอีกหน่อย ที่เรียกว่า NSAID แบบมีฤทธิ์ไม่เจาะจง ซึ่งเป็นยาแก้ปวดอักเสบที่ใช้กันทั่วในเมืองไทย ตั้งแต่ Diclofenac (เช่น Voltaren) Ibuprofen (เช่น Brufen) Naproxen (เช่น Naprosyn) Meloxicam (เช่น Mobic) Piroxicam (เช่น Feldene) Indomethacin (เช่น Indocid) Sulindac (เช่น Clinoril) Phenylbutazone Mefenamic acid (เช่น ponstan) ซึ่งยาเหล่านี้แต่ละตัวมีหลายสิบยี่ห้อหรือหลายชื่อ แล้วแต่ว่าผลิตจากบริษัทใด

อย่างไรก็ตาม ทั้งๆ ที่มีการเตือนและการให้ความรู้เหล่านี้มาตลอด ดูท่าจะไม่มีใครสะดุ้งสะเทือน ทั้งผู้ใช้และผู้จ่ายยานัก เพราะพบว่าปริมาณการจำหน่ายยิ่งดุเดือดมหาศาล รวมทั้งที่เอามารวมเป็นยาชุดแก้ปวด แก้เมื่อย แก้ไมเกรน ชุดละ 3-5 เม็ด และหาซื้อได้ทั่วไป

ล่าสุด มีรายงานเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2017 นี่เอง ในวารสารหัวใจของยุโรป ตอกย้ำอันตรายของยาเหล่านี้ โดยพบว่ายาในกลุ่ม NSAID ที่ไม่มีฤทธิ์เจาะจง ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วย จนถึงกับหยุดไปเฉยๆ โดยทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 31 จากยา Ibuprofen และความเสี่ยงสูงขึ้นไปถึงร้อยละ 50 สำหรับยา Diclofenac

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ไม่นานในเดือนกันยายน 2016 มีรายงานลักษณะเดียวกัน ในวารสารการแพทย์ของอังกฤษว่า ยาแก้ปวดมีผลความเสี่ยงเพิ่มหัวใจวาย จากเส้นเลือดหัวใจอุดตัน และหัวใจเต้นผิดปกติเช่นกัน

เราทราบกันดีนะครับ อาการปวด แม้ใช้ยาแก้ปวดขนาดที่ไม่แรงมากนัก หรือน้อยกว่ากลุ่มที่กล่าวข้างต้น เช่น พาราเซตามอล ซึ่งมีชื่อมากหลายแล้วแต่บริษัทที่ผลิต ในผู้ใหญ่กินได้ไม่เกิน 8 เม็ดต่อวัน ครั้งละ 2 เม็ด เม็ดละ 500 มิลลิกรัม (มก.) ห่างกัน 6 ชั่วโมง และไม่ควรกินติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะเดี๋ยวตับวาย ต้องหาสาเหตุของการปวด หรือต้องบรรเทาด้วยวิธีอื่น

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง เช่น ปวดหัวเข่า เข่าเสื่อม ปวดหลัง เป็นต้น ต้องหาทางเลี่ยงการใช้ให้มากๆ จากการบริหารที่ถูกท่า ใช้ยาถูนวด เป็นหลัก โดยเฉพาะคนมีอายุมากขึ้น มีโรคประจำตัว อ้วน ความดันสูง เป็นเบาหวาน มีตับ ไต ไม่สมบูรณ์ ต้องยิ่งควรระมัดระวัง