แมลงสาบ! ภัยเงียบสู่ภูมิแพ้ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

แมลงสาบ! ภัยเงียบสู่ภูมิแพ้

Date : 5 April 2024

ข้อมูลจาก : รศ.พญ.อัญชลี ตั้งตรงจิตรและคณะ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


“แมลงสาบ”  สัตว์สกปรกที่เป็นต้นกำเนิดสารก่อภูมิแพ้  ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของผู้ป่วยภูมิแพ้คนไทย

แมลงสาบที่พบในบ้านเรา ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อเมริกัน สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว  กล่าวคือหากเราเห็นแมลงสาบในบ้าน 1 ตัว เท่ากับยังมีอยู่ในรังอีก 10-800 ตัว สารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบจะมาจากส่วนต่าง ๆ ทั้งจากตัวมันเอง และส่วนต่างๆ ของแมลงสาบ   เช่น   ปีก หนวด  ไข่   รวมทั้งสิ่งที่ขับถ่ายออกมา หรือจากสารคัดหลั่งของแมลงสาบ

หลายคนสงสัยว่า “ภูมิแพ้” นั้นคืออะไรกัน

อธิบายง่ายๆ  ก็คือ  โรคภูมิแพ้   เกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแบบไวเกินต่อสารก่อภูมิแพ้ (allergen) ซึ่งในคนปกติไม่เกิดอาการใดๆ แต่ในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ เมื่อได้รับสารนั้นจะกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้าง immunoglobulin E (IgE) มากเกินไป มีผลทำให้เซลล์ต่างๆ ทำงานมากขึ้น เกิดการอักเสบและมีการหลั่งสารเคมีชนิดต่างๆ ที่รู้จักกันดีคือสาร histamine  ทำให้เกิดอาการแพ้และมีอาการแสดงต่างๆ แล้วแต่ว่าจะเกิดกับอวัยวะใด  ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกระบบและทุกวัย

แม้โรคภูมิแพ้ จะเป็นโรคที่ไม่ติดต่อกัน  แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคคือ กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม  จะมีสักกี่คนที่ทราบว่า สิ่งแวดล้อมที่กล่าวถึงนั้น รวมถึงบ้านพักอาศัยด้วย เพราะในบ้านมีสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ฝุ่นบ้าน ขนสัตว์ ฯลฯ โดยเฉพาะแมลงสาบถือเป็นภัยร้ายใกล้ตัว ที่หลายคนมองข้าม ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นอยู่   หากเป็นอพาร์ทเมนท์  ที่รวมห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัวไว้ที่เดียวกัน จะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่อาศัยในบ้านพัก หรือห้องเช่าที่มีการจัดแบ่งห้องต่าง ๆ ไว้อย่างเป็นสัดส่วน จากการสำรวจพบว่า  ในส่วนที่เป็นครัวจะมีสารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบมากที่สุด รองลงมาคือ ห้องนั่งเล่นและห้องนอน

จากการศึกษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลศิริราชที่ผ่านมา พบว่า มีสาเหตุมาจากแมลงสาบ 44 – 60 % ของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทั้งหมด

อาการภูมิแพ้แมลงสาบ  อาจมีเพียงเล็กน้อย   เช่น  คันที่ผิวหนัง  คอ   ตาและจมูก  ที่พบบ่อยคือ  โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศ (Allergic rhinitis) และโรคหืด (asthma) ซึ่งมักมีอาการเกิดขึ้นได้ตลอดปี หากเกิดอาการในกลุ่มเด็กจะมีความรุนแรงมากกว่า อาจทำให้เกิดโรคหอบหืดและหายใจไม่ออก จนต้องไปโรงพยาบาลอย่างฉุกเฉินหรือเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และมีโอกาสเสียชีวิตได้ถ้านำส่งโรงพยาบาลไม่ทัน

แพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยกำจัดหรือลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว  และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือได้รับสารก่อภูมิแพ้อย่างมุ่งมั่นและจริงจัง  ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการรักษาโรคภูมิแพ้  การกำจัดแมลงสาบต้องอาศัยหลายวิธีร่วมกัน  ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม โดยการรักษาความสะอาด กำจัดขยะและเศษอาหาร การควบคุมโดยใช้สารเคมี และใช้อุปกรณ์กำจัดแมลงสาบ

อย่างไรก็ตามโรคภูมิแพ้ไม่เฉพาะที่มาจากแมลงสาบนับวันจะพบมากขึ้น  เพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป  สิ่งที่เป็นปัญหาของการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยนั้น ส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าในบ้านจะมีสารก่อภูมิแพ้ใด จึงทำให้แพทย์เกิดแนวคิดในการทำชุดทดสอบต่าง ๆ เพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ในบ้านโดยเฉพาะเพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในอดีตจะใช้ชุดตรวจสอบจากต่างประเทศซึ่งเป็นแมลงสาบคนละสายพันธุ์กับไทย ทำให้ไม่ได้มาตรฐาน แต่วันนี้เราสามารถพัฒนาน้ำยาดังกล่าวได้สำเร็จ  และนำมาใช้ในการตรวจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้คณะผู้วิจัยนำโดย  ศาสตราจารจารย์ ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา ยังได้พัฒนาวัคซีน  โดยการนำโปรตีนของแมลงสาบกว่า 20 ชนิด มาตรวจสอบว่าชนิดใดก่อให้เกิดภูมิแพ้  เมื่อทราบว่าโปรตีนจากแมลงสาบชนิดใดที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้และเป็นโปรตีนที่ไม่พบในคน จึงนำมาพัฒนาเป็นวัคซีนต้นแบบสำหรับการรักษาโรคภูมิแพ้แมลงสาบได้สำเร็จเรียกว่า วัคซีนดีเอ็นเอ โดยการนำดีเอ็นเอที่สร้างโปรตีนแมลงสาบมาเชื่อมกับดีเอ็นเอของสารช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของคน    ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในผู้ป่วย

แม้ภูมิแพ้จะได้รับการรักษาแล้ว   แต่ไม่อาจพูดได้ว่าหายขาด 100 %   จากข้อมูลที่ผ่านมา  มีเด็กประมาณ  30 – 50 %  ถ้าได้รับการดูแลรักษาดี   โตขึ้นอาจหายได้ แต่ในรายที่ไม่หายขาด สามารถดูแลรักษาไม่ให้อาการกำเริบได้

ถ้าไม่อยากเป็นภูมิแพ้แมลงสาบ  ต้องหมั่นทำความสะอาด  ดูแลสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและรอบๆ  ป้องกันดีกว่าแก้ไขนะคะ